น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 2.3% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 1.8-2.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลงเหลือ 2 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 5 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 49% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากหลายประเทศสามารถกระจายวัคซีนได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 3/2564 ถึงต้นไตรมาส 4/2564 และจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 11% ดีขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 6.2% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเร่งดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังในหลายประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีกับการส่งออกของไทยในปีนี้ รวมถึงการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง โครงการม 33 เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบผ่านสถาบันการเงินก็เป็นปัจจัยเสริม รวมทั้งการเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ถูกส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานด้วย
"ต้องยอมรับว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวมีผลสำคัญต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ โดยตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในหลายประเทศ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2564 รวมถึงหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้ากว่าคาดการณ์ อีกทั้งแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวจะเป็นเฉพาะบางพื้นที่ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด" น.ส.กุลยา กล่าว
โฆษกกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า ปีนี้จะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ประมาณ 6.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมประมาณ 1 แสนล้านบาท และในปี 2563 มีการเบิกจ่ายไปแล้วราว 3.4 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2565 จะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยในการประคองเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ปัจจุบันมีการอนุมัติวงเงินแล้ว 7.62 แสนล้านบาท คิดเป็น 85.41% และมีการเบิกจ่ายแล้ว 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยภายในปีนี้ โดยรัฐบาลยังมีวงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินเหลือเพื่อดำเนินมาตรการดูแลเยียวยาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อีก 2.37 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ค.64