ฝ่ายวิจัย TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% รอปรับลดรอบหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2007 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย (TMB) คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 3.25% เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง เพราะเศรษฐ
กิจมีสัญญาณดีขึ้นแล้ว
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนส.ค.50 อุปสงค์ในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.ที่ขยายตัวเพียง 0.1% เท่านั้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว 2.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ก็เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.4 จากระดับ 40.7 ในเดือนก่อน
เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 เป็นเดือนแรกในรอบ 6 เดือน ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเร่งตัวขึ้น บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความพร้อมที่จะขยายลงทุน จึงเป็นไปได้ว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สรอ. กลับมาขยายตัวสูงถึง 18.4% หลังจากชะลอลงในเดือนก่อนที่เติบโตเพียง 6.6%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าในเดือนส.ค. อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงมาอย่างมาก แต่ทว่าผลของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นในเดือนก.ย. โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้น 0.8%
และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส ที่ 4 จะทรงตัวอยู่ที่ระดับนี้ต่อไป เมื่อเทียบกับฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงปลายปี 49 ประกอบกับราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับขึ้น จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลก การลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มและ และการปรับขึ้นเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจ หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นในอนาคต
ส่วนค่าเงินบาทยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล และอยู่ในทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยหลังจากที่ FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.50% ในวันที่ 18 ก.ย. ทำให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคภาครวมทั้งตลาดหุ้นไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ 34.27 บาท/ดอลลาร์ ไม่แตกต่างจากช่วงก่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ที่อยู่ที่ระดับ 34.25-34.30 บาท/ดอลลาร์ และค่าเงินบาทในขณะนี้ถือว่าแข็งค่าสอดคล้องกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น และการซื้อประกันความเสี่ยงทั้งจำนวน ( Fully Hedge) ในการดูแลเสถียรภาพเงินบาทอยู่ ดังนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐที่แคบลง ยังไม่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงมากกว่าคาดการณ์ในปีหน้า หลังเกิดวิกฤตในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศอยู่ในขั้นเริ่มฟื้นตัว เป็นประเด็นที่กนง.อาจต้องพิจารณาว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ