นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้ไทยขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติมอีก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ในปี 58 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
"การเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวนับเป็นประโยชน์แก่ท้ง 2 ประเทศ เมื่อพิจารณาศักยภาพแหล่งผลิตไฟฟ้าลาวยังมีแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำที่จะขายให้กับประเทศไทยได้อีกมาก และเป็นทางเลือกสำหรับการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคตและมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ" รมว.พลังงาน กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมกพช.ยังอนุมัติร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการในลาว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1, โครงการน้ำงึม 3, โครงการน้ำเงี้ยบ และโครงการน้ำเทิน-หินบุน ส่วนขยาย รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 1,450 เมกะวัตต์ และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
ซึ่งทั้ง 4 โครงการจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการอยู่ที่ระดับ 1.94 บาท/หน่วย, 1.97 บาท/หน่วย, 1.95 บาท/หน่วย และ 1.89 บาท/หน่วย ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เมื่อรวมกับปัจจุบันไทยได้ตกลงรับซื้อไฟฟ้ากับลาวรวม 8 โครงการ กำลังผลิตรวม 3,314 เมกะวัตต์ และอยู่ในระหว่างการเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากับโครงการหงสาลิกไนต์อีก กำลังผลิตประมาณ 1,470 เมกะวัตต์ หากเจรจาตกลงกันได้จะทำให้กำลังผลิตรวมเป็น 4,784 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้ไทย
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า กพช.ยังอนุมัติจัดตั้งบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Egat International Company Limited) โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมีทุนจดทะเบียนขั้นต้น 50 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวแทน กฟผ.ในการลงทุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ.ในต่างประเทศ
การอนุมัติแผนแม่บทโครงการเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินในปี 51-65 ของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้พิจารณาวงเงินลงทุนรวม 77,678 ล้านบาท และกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วยถนนในพื้นที่วงแหวนชั้นใน ถนนลาดพร้าว, ถนนรามคำแหง, ถนนเพชรบุรีตัดใหม่, ถนนทองหล่อ และถนนเอกมัย ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น รวมประมาณ 180 กม. แบ่งเป็นระยะที่ 1 ปี 2551-2564 ระยะทางประมาณ 119 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ปี 2555-2565 ระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร
พร้อมกันนี้ที่ประชุม กพช.ยังอนุมัติร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ในช่วง 13 ปีข้างหน้า (2551-2564) โดยให้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (NPPDO) ขึ้นเป็นหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน โดยแผนช่วง 3 ปีแรก (2551-2553) ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท เป็นการศึกษาและวางแผนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้านเทคนิคโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ศึกษาความเหมาะสม การคัดเลือกสถานที่ตั้ง การประมาณการค่าใช้จ่าย ฯลฯ
นอกจากนั้นจะมีการยกร่างกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล มาตรฐาน และความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ ซึ่งจะยกร่างแล้วเสร็จภายในปีที่ 3 ซึ่งหากประเทศหรือรัฐบาลชุดใหม่จะตัดสินใจให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะมีการเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอนทางนิติบัญญัติเพื่อให้มีการบังคับใช้ต่อไป และจะสามารถเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปได้
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--