ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.64 ว่า เศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอปุสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากผลของฐานที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลังพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 คลี่คลายลง ประกอบกับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่มีต่อเนื่อง ทำให้การใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวด และ 2) ผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดฯ รอบแรก
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 15.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมหมวดทองคำ มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 22.1% โดยเป็นการขยายตัวที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จาก 1) อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวด 2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และ 3) ฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดฯ รอบแรก นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีแม้ชะลอลงบ้าง จากผลดีของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นสอดคล้องกัน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับทิศทางการส่งออก อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างที่ยังอ่อนแอ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 15.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวสูงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสำคัญตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยยังมีไม่มาก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ทำให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับแย่ลง โดยมาตรการกระตุ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐ ช่วยพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ กลับมาขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนทรงตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ลดลง และผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ยปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แนวโน้มในระยะข้างหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของโควิดรอบสาม ในขณะที่การส่งออกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่ ธปท.ได้หารือกับผู้ประกอบการพบว่าเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดในรอบสาม โดยเฉพาะธุรกิจการค้าและการบริการ ดังนี้
- ธุรกิจการค้า ได้รับผลกระทบต่อยอดขายบ้าง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นวงกว้างกว่ารอบสอง ลูกค้าเข้ามาใช้บริการลดลง และกำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเข้ามาช่วยได้บ้าง โดยพบว่าห้างสรรพสินค้า ยอดขายกลับามาน้อยกว่า 70% ของช่วงเวลาปกติ ส่วนร้านหาบเร่แผงลอย ยอดขายกลับมาน้อยกว่า 50% ของช่วงเวลาปกติ
- ธุรกิจบริการ ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาด หลัวจากที่เริ่มทยอยฟื้นตัวได้บ้างแล้ว โดยธุรกิจโรงแรม แม้จะมีวันหยุดยาวในเดือนเม.ย. แต่กลับถูกยกเลิกบางส่วน ขณะที่หลังวันหยุด ยอดจองลดลงมากเหลือน้อยกว่า 10% ส่วนร้านอาหาร กระทบมากขึ้นจากการจำกัดเวลาเปิดให้บริการ และการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการขนส่ง จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตามการเดินทางนอกบ้านที่ลดลง เป็นต้น