ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ยังคงรุนแรง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าพันคนต่อวัน ในขณะที่ระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพและการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป ดังนั้น ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการประสานนโยบายทางการเงินและทางการคลัง จึงมีความสำคัญต่อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงเชิงลบที่ยังมีอยู่สูง
ทั้งนี้ กนง. คงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหา มากกว่าการใช้นโยบายทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมาตรการทางการเงินและทางการคลังที่ออกมา คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง
โดยล่าสุดทาง ธปท.ได้มีการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ภายใต้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ช่วยลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปยังการจ้างงานและเศรษฐกิจโดยรวม
ในขณะที่ทางการคลัง ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกันซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 2564 นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านและภายใต้งบกลางของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ซึ่งมีวงเงินคงเหลือรวมกันอยู่ราว 3 แสนล้านบาท โดยขณะนี้โครงการคนละครึ่งเฟส 3 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในเดือนหน้า
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์มีทิศทางไปในเชิงลบมากขึ้น กนง. คงพร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย รวมถึงในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงสูง ท่ามกลางการเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสและการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ จะเริ่มดีขึ้น ดังนั้น กนง.คงจะต้องคอยติดตามสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ โดยกนง.น่าจะยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวออกไปจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภค ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังมีความเปราะบางอยู่ คาดว่า กนง.อาจพิจารณาออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม และยังคงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 2564 ขณะที่ในการประชุมรอบหน้า กนง. อาจมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.0% จากผลกระทบของการระบาดในรอบนี้