ทั้งนี้ กนอ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการไตรภาคี) ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิชาการ รวมถึงชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ พร้อมกันนี้ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กองทุน คือ 1) กองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบยื่นเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกองทุน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และให้คณะกรรมการประชุมก่อนกำหนดเพื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 2) กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโครงการ
โดยที่การดำเนินงานของทั้งสองกองทุน เป็นไปตามข้อกำหนดของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental Health Impact Assessment: EHIA)
"การมายื่นหนังสือของชาวประมงเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ชัดเจนว่าทางกลุ่มฯที่มายื่น ไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการขัดขวางหรือประท้วงไม่ให้มีการถมทะเล เพียงต้องการให้ภาครัฐหันมาพิจารณาดูแลชาวประมงพื้นบ้านระยองที่อาจได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ ชาวประมงที่เข้ามายื่นหนังสือ ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือแบบเดียวกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ดำเนินการ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่าง เราจะต้องพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป" นายวีริศ กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่
โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยปัจจุบันมีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ