นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 รัฐบาลยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ใช้ศักยภาพของประเทศทั้งด้านทรัพยากรและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญอย่างมากคือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน โดยในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก มีมูลค่า 1.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นับจากที่ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการปี 2558 รัฐบาลได้พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร เพื่อช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ มีเป้าหมาย คือ 1) เชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC) 2) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญเช่น อ.เชียงของ บ้านห้วยทราย บ่อเต็น บ่อหาน และคุณหมิง) และเขตการค้าเสรีคุณหมิง และ 3) ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรป ในอนาคตต่อไป
เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้อนุมัติโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ เพื่อเป็นประตูการค้าที่สำคัญบนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North ? South Economic Corridor) โดยเป็นการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ให้เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศสู่ภายในประเทศ รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางถนนไปสู่ทางรถไฟ ซึ่งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่1 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ขณะที่ โครงการระยะที่2 ซึ่งครม.เพิ่งเห็นชอบเมื่อ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568
"การค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง เป็นตลาดสำคัญของไทยที่จะมูลค่าเพิ่มกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิก และที่จะขยายไปยังจีนตอนเหนือและยุโรป ในอนาคต หากสามารถผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษเชียงของเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น(ลาว) ได้สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการที่จีนกำหนดให้สามารถขอรับสิทธิพิเศษสำหรับ CBEC ได้ (Positive Lists for CBEC) อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนและผู้ประกอบการติดตามข้อมูลและตื่นตัวในเรื่องนี้เพราะเป็นโอกาสใหญ่ทางธุรกิจ" รองโฆษกฯ กล่าว