ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทด ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 46.3 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ระดับ 47.3 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 2 และ 3 ที่แพร่กระจายในวงกว้างจนต้องมีการยกเลิกจัดงานปีใหม่ งานสงกรานต์ และการจองที่พัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง มีการชุมนุมทางการเมือง การส่งออกชะลอตัว การแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภาระหนี้ครัวเรือน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง การบริโภคไม่เติบโต
ขณะที่ผู้ประกอบการ มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น, เปิดเสรีให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือก, ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด และออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด ไตรมาสแรกปี 64 มีสัญญาณการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส แม้ดัชนีจะฟื้นตัวจากช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 64 และยังไม่มีสัญญาณแย่ลง เนื่องจากเป็นการสำรวจในช่วงกลางเดือน เม.ย.64 แต่เริ่มมีมุมมองในอนาคตว่าไตรมาสที่ 2 ธุรกิจมีโอกาสย่อลง ยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ทรุดตัวรุนแรง ทั้งจำนวนลูกค้าและราคาขาย แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อชะลอตัวลงตามสถานการณ์ โดยโมเดิร์นเทรดมีการปรับตัวไปขายทางออนไลน์
"เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 63 ที่การขยายตัวติดลบ 12.2% เป็นระดับต่ำสุดในการสำรวจ แต่ดัชนีขณะนี้ยังอยู่เหนือขณะนั้น แสดงว่าท่ามกลางสถานการณ์โควิด โมเดิร์นเทรดมีความเข้มแข็งขึ้น...การค้าของไทยยอดยังไม่ตกลง ประชาชนยังไม่ได้ประหยัดจนทำให้การค้าชะงักงัน" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ คาดว่า วิกฤตโควิดระลอกเดือนเมษายนจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหายราว 3-4.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน เนื่องจากต้องดูปัจจัยอื่นๆ เช่น การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ความเสียหายทางเศรษฐกิจหนักสุดในระลอกนี้อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็วภายในกลางเดือน พ.ค.นี้อาจจะเสียหายแค่ 3 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัดสุดคือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มสันทนาการเวลากลางคืนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง
โดยแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่น่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกลับคืนมากที่สุดจากการสำรวจที่ผ่านมา คือโครงการคนละครึ่ง เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนทุกระดับ ทั้งรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และใช้งบประมาณไม่มาก
"รัฐคงมีนโยบายหลายอย่างผสมผสานกัน ทั้งการลดค่าครองชีพ เพื่อดูแลผู้มีรายได้ไม่สูง โครงการคนละครึ่งจะดูแลคนที่มีกำลังซื้อพอสมควรหรือคนที่มีเงินออม หากครอบคลุมทุกคนจะเกิดประโยชน์สูงมาก ถ้าให้คนละ 7 พันบาท 20-30 ล้านคน ใช้เงิน 1.5-2 แสนล้านบาท ภาคประชาชนเติมเงินเข้าไปเท่ากัน จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3-4 แสนล้านบาท" นายธนวรรธน์ กล่าว
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และอยากให้ภาครัฐใช้ภาคบริการเป็นกลไกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว หลังจากนั้นภาคการผลิตจะฟื้นตัวตามมาทีหลัง
"เราต้องให้ออกซิเจนภาคบริการ เช่น โรงแรม ซึ่งจากการสำรวจของ ธปท.จะอยู่ได้อีก 3-4 เดือน หลังสถานการณ์โควิดคลายตัวแล้ว ธุรกิจก็จะกลับมา" นายสุรงค์ กล่าว