สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 6-7% ตามศก.โลกฟื้นตัว จากเดิมคาดโต 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2021 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 64 เป็นขยายตัว 6-7% จากเดิมคาด 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่

1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1.1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา การขยายตัวของตัวเลขทางเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงจนถึงระดับก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ยอดค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐ 1.8 ล้านล้านดอลลาสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อชองประชาชน, จีน การขยายตัวของ GDP แข็งแกร่งมากใน Q1/64 จากการบริโภคในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อภาคการผลิตเพิ่มขึ้น

1.2) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุด ที่ระดับค่าเฉลี่ย 55 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในหลายประเทศทั่วโลก

2) มูลค่าและปริมาณการส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขยายตัวในระดับสูงของสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับจากเดือน พ.ย.61

3) ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วในปลายประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมัน ประกอบกับอุปทานที่ลดลงจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันในเดือน มี.ค. อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

4) ค่าเงินบาทที่ทรงตัวในกรอบการอ่อนค่า เนื่องด้วยดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่า หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 ของสหรัฐออกมาดีสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง

1.1) การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ Space Allocation ในเส้นทางยุโรปและ US East Coast รวมถึงปัญหา Congestion ในส่วนของ Inland ในเส้นทาง US West Coast ทำให้บางสายเรือมีการงดรับ Booking ท่าเรือที่เป็น Inland Port ชั่วคราว โดยสามารถรับจองระวางเพียงแค่ Base Port ได้เท่านั้น

1.2) ค่าระวางทรงตัวสูงในหลายเส้นทาง อาทิ US West Coast / East Coast และ Europe รวมถึงการเก็บเพิ่มค่า Surcharge ในบางเส้นทาง อาทิ Low Sulphur Surcharge ในเส้นทาง Jebel Ali (ดูไบ) และ Peak Season Surcharge ของตู้ Reefer ในเส้นทางยุโรป เป็นต้น

1.3) ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สภาพการจราจรภายในท่าติดขัดยาวนาน ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงต้นทุนการขนส่ง ค่าใช้จ่ายยกขนตู้สินค้า เสียค่าล่วงเวลาการเช่ารถหัวลากมารับสินค้า การบริหารจัดการสินค้านำเข้าเพื่อป้อนสู่โรงงาน และสินค้าขาออกตกเรือ ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้ากับลูกค้าปลายทางได้ทันตามกำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ

2) การระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย เนื่องด้วยมีการกลับมีการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ อินเดีย สหภาพยุโรป ที่ยังมีความรุนแรงซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนรวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจยูโรโซน Q1/64 อยู่ที่ขยายตัว 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

3) สถานการณ์วัตถุดิบขาดแคลน

3.1) สถานการณ์การขาดแคลนชิป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในส่วนชิปควบคุมและประมวลผลชั้นสูง (Microcontroller) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ส่งผลให้ค่ายรถบางแห่งเริ่มประกาศชะลอการผลิตและส่งมอบรถในบางรุ่นออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับ Stock สินค้าของแต่ละผู้ผลิต

3.2) ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการลดกำลังการผลิตราว 50% ของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกจากมาตรกาควบคุมมลภาวะทางอากาศ ทำให้เกิดภาวะ Short Supply ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

4) สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม Unskilled labor จากผลกระทบของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงานต่างด้าว ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกหลายๆ อุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหาร ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ