คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯ นัดถก "เราชนะ-ม33 เรารักกัน" พรุ่งนี้ ก่อนชงครม.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2021 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จะมีการพิจารณารายละเอียดของมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มเติม ในส่วนของมาตรการ"เราชนะ" และมาตรการ "ม33 เรารักกัน" ซึ่งจะมีการเพิ่มวงเงินสิทธิให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์อีกสัปดาห์ละ 1 พันบาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้งบประมาณ 8.55 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะเร่งเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เม็ดเงินใหม่เข้าสู่มาตรการได้ไม่เกินเดือน พ.ค.64

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือตั้งแต่ ก.ค.- ธ.ค.64 รัฐบาลเตรียมที่จะออกมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นการฟื้นฟู ดูแลประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายในระยะต่อไป รวมถึงเพื่อรักษาระดับและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมาตรการที่ออกมาจะเน้นการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน

โดยมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2564 ประกอบด้วย โครงการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเยียวยยากลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครอบคลุม 16.15 ล้านคน โดยจะให้วงเงินสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/ บัตรประจำตัวประชาชนไปใช้ ณ ร้านธงฟ้า ร้านค้า และผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จำนวน 200 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็น 1,200 บาท/คน ตลอดระยะเวลาโครงการ 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.64) และโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ครอบคลุม 31 ล้านคน แบ่งเป็น ประชาชนที่อยู่ในโครงการอยู่แล้ว 15 ล้านคน และจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนใหม่อีก 16 ล้านคน เงื่อนไขโครงการยังเป็นเหมือนเดิม โดยโครงการจะเริ่มตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค.64

น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า ยังมีมาตรการใหม่สำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และมีรายได้ค่อนข้างสูง คือ มาตรการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ซึ่งรัฐจะสนับสนุน e-Voucher ค่าซื้อสินค้า ค่าอาหาร เครื่องดื่ม และบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เกิน 5,000 บาท/คน/วัน สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท/คน โดยการใช้จ่ายจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.64 และใช้จ่าย e-Voucher ได้ในเดือน ส.ค. - ธ.ค.64 ซึ่งการใช้จ่ายจะดำเนินการผ่าน G-Wallet ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน

"มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศนั้น คาดว่าจะเริ่มรับสมัครได้ในเดือน มิ.ย.นี้ และเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่ ก.ค. 64 โดยในส่วนมาตรการใหม่อย่าง "ยิ่งใช้ยิ่งได้"นั้น กระทรวงการคลังจะมีการเตรียมงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ให้นำเงินออกมาใช้จ่าย และสนับสนุนผู้ประกอบการที่จดภาษีแวตได้ ซึ่งมาตรการที่จะออกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ที่ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ก็จะช่วยทำระบบเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ ก.ค.- ธ.ค.ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินจะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินที่ยังเหลืออยู่ โดยหลังจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป" น.ส.กุลยา กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการรับสิทธิตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เตรียมจะดำเนินการนั้น ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ 1 คนต่อ 1 โครงการเท่านั้น เช่น หากเลือกรับสิทธิในโครงการ "คนละครึ่ง" ก็ไม่สามารถใช้สิทธิในโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ได้อีก หรือหากเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สิทธิในโครงการ "คนละครึ่ง" ได้อีก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ