นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.3 ในเดือนมีนาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวส์เหมือนกับการระบาดในระลอกแรก แต่วิกฤตโควิด-19 ระลอกที่สาม ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการ Work From Home ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
"ดัชนีฯ ในเดือนเมษายนดิ่งหัวลงทุกกลุ่มและทุกภูมิภาค แสดงว่าสถานการณืโควิด-19 ระลอกนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักพันรายและมีผู้เสียชีวิตสองดิจิทต่อเนื่องทุกวัน" นายสุพันะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนยังมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 94.0 ในเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่สาม ที่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มี 4 ข้อเสนอด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง
2.เร่งจัดซื้อและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน
3.ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่สามอย่างเร่งด่วน ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
4.เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลสำรวจความต้องการวัคซีนของภาคเอกชนล่าสุด 6,174 บริษัท จำนวน 1,036,847 คน โดยต้องการให้มีการจัดหาวัคซีนมาใช้งานในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเสริมการจัดหาวัคซีนภาครัฐ ไม่ให้กระทบโควต้าที่รัฐจัดหามาได้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายเงินกันเอง ซึ่งประเมินว่าน่าจะอยู่ที่โดสละ 1 พันบาท แต่ยังมีปัญหาที่เป็นห่วงคือเรื่องการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและความไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปจากการคณะทำงาน 4 ชุด หลังได้ประสานเครื่อข่ายที่มีอยู่ทุกช่องทางแล้ว ซึ่งมีความมั่นใจเรื่องที่จะจีดวัคซีนมาเสริมได้ 70-80%
"น่าจะมีข่าวดีในระยะสั้น วันที่ 19 พ.ค.นี้ กกร.จะมีการประชุมหาข้อสรุปอีกที เราอยากให้ได้มาฉีดในเดือน มิ.ย.หากเลยจากนั้นไปก็มีวัคซีนของภาครัฐเข้ามาแล้ว" นายสุพันธุ์ กล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ตนเองยังยืนยันให้ภาครัฐเตรียมเรื่องกู้เงินเพื่อใช้แก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทเหมือนที่เคยพูดไว้เมื่อปีก่อน หากยังไม่สามารถสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยที่ผ่านมามีการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่เหลืออยู่ นอกเหนือจากการส่งออก
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท.สายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปนั้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อัตราการเติบโตยังดีอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อแค่ไหน ในส่วนของอุตสาหกรรมยายนต์นั้น ผู้ประกอบการได้ปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ โดยจัดลำดับความต้องการใช้ชิปในการผลิต หากเป็นรถยนต์รุ่นที่มีความปลอดภัยสูงที่ต้องใช้ชิปจำนวนมากก็จะอยู่ในสายการผลิตท้ายๆ แล้วผลิตรถยนต์ที่ใช้ชิปจำนวนน้อยก่อน