นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสม กล่าวว่า จากนโยบายการตลาดนำการเกษตรของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีแนวทางการดำเนินงานให้เกษตรกรรวมกลุ่มและบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกัน มีตลาดที่เป็นอุตสาหกรรมรองรับที่แน่นอน และเน้นกระบวนการจัดการที่ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยสนับสนุนแผนการตลาดที่ชัดเจนของอุตสาหกรรม ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการรับซื้อ สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยและแม่นยำ
โดยการดำเนินการประกอบด้วย 9 กิจกรรมหลัก คือ (1) ส.อ.ท.กำหนดแผนความต้องการผลผลิตและราคารับซื้อที่ชัดเจน (2) กระทรวงเกษตรฯ กำหนดขอบเขตพื้นที่การผลิตให้สอดรับกับที่ตั้งของอุตสาหกรรมและมิติด้านโลจิสติกส์ (3) ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมด้วยระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ (4) วิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่การผลิตด้วยระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) (5) พัฒนาเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พร้อมเชื่อมโยงนวัตกรรมจากศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ผ่าน ศพก.
(6) ลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เช่น การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) (7) ส่งเสริม start up ให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Provider: ASP) เช่นเครื่องจักรกลการเกษตร, โดรน (8) มีระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตามมาตรฐานที่อุตสาหกรรมต้องการ และ (9) ใช้กลไกการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน คือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน และมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำหน้าที่บูรณาการงานและปัจจัยในพื้นที่ เช่น ชลประทาน แหล่งน้ำ ที่ดิน เป็นต้น
ในระยะแรกนำร่องขับเคลื่อน 5 ชนิดสินค้าเป้าหมายตามความต้องการของ ส.อ.ท. ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ กำหนดพื้นที่ดำเนินงานไว้ประมาณ 400,000 ไร่เศษ และจะทยอยวางแผนให้ครบ 2 ล้านไร่ ตามเป้าหมายที่ภาคอุตสาหกรรมจะเสนอความต้องการเพิ่มเข้ามา ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจาก ส.อ.ท. ได้เสนอยูคาลิปตัสเป็นพืชชนิดต่อไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ
ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมกับผู้บริหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด (ยางพารา) 2. บริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด (ปาล์มน้ำมัน) 3. โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ (อ้อยโรงงาน) 4. บมจ.ซันสวีท (SUN) (ข้าวโพดหวาน) และ 5. บริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด (มะเขือเทศ) เพื่อขับเคลื่อน ทำความเข้าใจ และหารือความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของ (ร่าง) แผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ของโครงการฯ ทั้ง 5 สินค้า ร่วมกับหน่วยงานเกษตรในระดับจังหวัดและอำเภอ รวม 31 จังหวัด 9 หน่วยงาน พร้อมกับอุตสาหกรรมทั้ง 5 อุตสาหกรรม 7 แห่ง รวมถึงหน่วยงานภายนอก ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
"กระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวนี้ จะผลักดันให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน สนับสนุนให้เกิด supply chain ที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบและมีแผนงาน สร้าง value chain และสร้างงานในทุกห่วงโซ่ของระบบ สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรและอุตสาหกรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงพึ่งพาตนเองได้" นางดาเรศร์ กล่าว