เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (โอเปค) กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจนิวยอร์กว่า การทรุดตัวลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจฉุดเศรษฐกิจของสหรัฐให้ "ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ" ไปจนถึงปีหน้า และกว่าที่ตลาดวอลล์สตรีทจะฟื้นตัวขึ้นอย่างเต็มที่หลังจากถูกกระทบจากวิกฤตการณ์สินเชื่อนั้น จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ เบอร์นันเก้ได้ให้คำมั่นสัญญาอีกครั้งหนึ่งว่า "เฟดจะดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จำเป็น" เพื่อกอบกู้วิกฤตการณ์ในตลาดการเงินซึ่งประสบภาวะผันผวนอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฟดจะใช้นโยบายที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นและควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกินไป
"สภาวะในตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้วนับตั้งแต่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงกลางเดือนส.ค. แต่คาดว่ากว่าที่ตลาดจะฟื้นตัวขึ้นอย่างเต็มที่นั้น อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นเราคงเห็นตลาดชะลอตัวลงบ้างในบางครั้ง" เบอร์นันเก้กล่าว
"ด้วยเหตุนี้ เฟดจะจับตาดูสัญญาณบ่งชี้ทุกๆที่ที่มีผลต่อเศรษบกิจของสหรัฐ เพื่อกำหนดว่าเฟดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" เบอร์นันเก้กล่าว
เบอร์นันเก้กล่าวว่า "นับตั้งแต่การประชุมเฟดในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวลงหนักสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 4 และอาจลุกลามไปจนถึงต้นปีหน้า"
"อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าภาวะถดถอยในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาสินเชื่อตึงตัวจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหรือไม่ ซึ่งตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" เขากล่าว
"การที่เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นั้น ได้ช่วยลดแรงตึงเครียดในตลาดการเงิน แต่ต้องยอมรับว่าความตึงเครียดก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเหนือเป้าหมาย และ การตัดสินครั้งต่อไปในเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ" นายเบอร์นันเก้ส่งสัญญาณ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลด้านการเงินและเศรษฐกิจแบบใดที่เขาต้องการจะเห็น แต่ยังไม่ได้เห็น เบอร์นันเก้ตอบว่า "ข้อมูลที่ผมให้ความสำคัญคือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้เสีย"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--