ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์ บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด นำเสนอบทความวิภาษภาษี เรื่อง "มาตรการตัดหนี้สูญใหม่ในช่วงโควิด" โดบระบุว่า ลำบากกันมานานกับมาตรการตัดหนี้สูญของกรมสรรพากรที่ทั้งใช้ยาก เคร่งครัด และมีวงเงินการตัดหนี้สูญในแต่ละขั้นที่ต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้นมาก รัฐบาลเล็งเห็นถึงผลกระทบของโควิดต่อบริษัทจำนวนมากที่ได้ผิดนัดชำระหนี้และปิดกิจการหรือล้มละลาย ส่งผลให้บริษัทที่เป็นเจ้าหนี้ต้องประสบกับความสูญเสียใหญ่หลวงตามไปด้วย เพื่อช่วยให้กิจการอยู่รอดต่อไปได้ กระทรวงการคลังได้ลงนามในกฎกระทรวง ฉบับที่ 374 ในวันที่ 16 เมษายน 2564 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตัดหนี้สูญในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ง่ายขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นพิษในขณะนี้
กฎกระทรวง ฉบับที่ 374 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 แต่มีกลไกที่ยอมให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปด้วย กล่าวคือ แม้ว่าจะได้ปิดรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ไปแล้ว กรรมการของบริษัทยังสามารถทำการอนุมัติให้จำหน่ายหนี้สูญของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ได้โดยทั้งนี้ต้องกระทำภายใน 60 วันนับแต่วันปิดรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว หรือภายใน 60 นับแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
หากบริษัทใดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดและประสงค์จะตัดหนี้สูญของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด 50 ไปแล้ว จะต้องเร่งดำเนินการให้กรรมการอนุมัติการตัดหนี้สูญภายใน 60 วันนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 และยื่นแบบแสดงรายการ ภงด 50 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
สิ่งสำคัญยิ่งที่กฎกระทรวงฉบับนี้ทำให้กับผู้เสียภาษีได้แก่ การยอมให้นำหนี้สูญที่เกิดขึ้นนอกประเทศโดยมีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาใช้ตัดรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เยี่ยงเดียวกันกับกรณีที่มีการฟ้องร้องในศาลไทย ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นแล้ว บริษัทที่ได้นำผลของคำพิพากษาในต่างประเทศมาใช้เป็นหลักฐานในการตัดหนี้สูญต่างก็ต้องประสบชะตากรรมถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมสรรพากรทำการประเมินภาษีนับเป็นเวลาสิบๆ ปี สร้างความเจ็บปวดให้แก่บริษัทไทยที่ได้นำเงินออกไปลงทุนมาโดยตลอด เนื่องจากไม่เฉพาะแต่ผลขาดทุนที่ต้องแบกรับแต่ยังโดนทำร้ายจากกลไกของรัฐเองอีกด้วย กฎกระทรวงฉบับนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้บริษัทที่มีศักยภาพมองโอกาสการลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น
หลักเกณฑ์การตัดรายจ่ายหนี้สูญใหม่นี้ยังได้เพิ่มวงเงินขั้นต่ำในแต่ละขั้นที่ใช้เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขของการตัดหนี้สูญให้สูงขึ้น ตัดรายจ่ายได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละรายที่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป ให้เป็นเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป โดย
ก) ในการดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง ได้มีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันสามารถแสดงได้ว่าได้มีการดำเนินการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้
ข) เพิ่มช่องทางให้ใช้ได้กับคดีที่ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายด้วย
ค) ให้ตัดหนี้สูญในต่างประเทศได้โดยต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับกรณีหนี้สูญในประเทศ และต้องมีเอกสารหลักฐานที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้นๆออกให้ พร้อมคำแปลตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ
2. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละรายที่ไม่เกิน 500,000 บาท ให้เป็นไม่เกิน 2,000,000 บาท โดย
ก) เพิ่มช่องทางให้ใช้ได้กับคดีที่ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องแล้ว และเพิ่มเติมให้ใช้ได้กับกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์มีคำสั่งรับคำขอชำระหนี้
ข) ให้ตัดหนี้สูญในต่างประเทศได้ โดยต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับกรณีหนี้สูญในประเทศ และต้องมีเอกสารหลักฐานที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ออกให้ พร้อมคำแปลตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ
3. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้รายย่อยจากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท ให้เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
4. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินใหม่ ในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หากหนี้มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
ก) ลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย ไม่น้อยกว่า 360 วัน หรือ 12 เดือน
ข) ลูกหนี้เข้าเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ค) ลูกหนี้เข้าเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชี สำหรับสินทรัพย์ และภาระผูกพันทางการเงินที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด