นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 967 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (571 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (154 ราย) ภาคเหนือ (124 ราย) ภาคตะวันออก (67 ราย) และภาคใต้ (51 ราย)
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 484,638 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 11,370.30 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 23,461.43 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 877 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 839 ราย ใน 75 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (77 ราย) กรุงเทพมหานคร (63 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 147 ราย ใน 46 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 128 ราย ใน 39 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (20 ราย) อุดรธานี (9 ราย) และอุบลราชธานี (8 ราย)
(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 186,913 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,120.43 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 27,981 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 641.62 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.57% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 31,500 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 736.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.86% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม