ธุรกิจเหมืองทองคำแอฟริกาใต้บูมรับราคาพุ่งแต่เอกชนวิตกความปลอดภัย

ข่าวต่างประเทศ Friday October 5, 2007 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาทองคำที่ถีบตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ได้ดึงดูดใจให้นักธุรกิจเจ้าของเหมืองแร่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลก เร่งขุดทองให้ลึกลงไปอีก และนำไปสู่คำถามต่างๆเกี่ยวกับการละเลยความปลอดภัยโดยมุ่งหวังแต่เพียงผลกำไร
เมื่อ 2 ปีก่อนธุรกิจเหมืองแร่ทองคำตกอยู่ในสภาพที่ซบเซา และสร้างความวิตกอย่างมากต่อความสามารถในการอยู่รอด อย่างไรก็ดี ราคาทองที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมานี้กิจกรรมการขุดทองมีความคึกคักมากขึ้น
"มีทั้งเหมืองเก่าและเหมืองใหม่กลับมาเปิดกิจการกันอีกรอบ" ธาโบ กาซี ประธานกรรมการสภาสุขภาพและความปลอดภัยเหมืองแร่ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนรัฐบาล แรงงาน และนายจ้างที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล กล่าว และได้แสดงความวิตกกับรัฐบาลว่า ความพยายามในในการทำกำไรสูงสุดด้วยต้นทุนต่ำสุดนั้น ควรจะมีการพิจารณามาตรฐานความปลอดภัยประกอบด้วย
"การทำเหมืองแร่โครงการใหม่ๆ ต้องมีการลงทุนในด้านความปลอดภัยเพื่อรับประกันว่าอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้น" เขากล่าวให้สัมภาษณ์ ขณะที่หน่วยกู้ภัยได้ช่วยเหลือคนงานเหมืองกว่า 3,200 คนที่ติดอยู่ในเหมืองลึกนานมากกว่า 24 ชั่วโมงในเหมืองทองคำอีแลนด์สแรนด์ แม้ว่า จะไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่สหภาพเหมืองแร่ก็ออกมาแสดงความวิตกในเรื่องนี้
"คนงานเหมืองแร่กว่า 3 พันคนติดอยู่ใต้ดิน ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยต่ออุตสาหกรรม และผลสะท้อนของปัญหาในวงกว้างที่แรงงานเหมืองแร่ในแอฟริกาใต้ต้องเผชิญ" สหภาพแรงงานเหมืองแร่แห่งชาติ กล่าว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ราคาทองพุ่งพรวดขึ้น เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำและความวิตกเงินเฟ้อ โดยราคาที่ซื้อขายในตลาดนิวยอร์กอยู่ที่ 742.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 525 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อช่วงต้นปี 2549
จอน แนดเลอร์ นักวิเคราะห์ทองคำประจำคิทโก้ บุลเลี่ยน ดีลเลอร์ส กล่าวว่า เหมืองแร่ในแอฟริกาใต้อันตรายกว่าเหมืองแร่ที่ใดๆในโลกนี้ โดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำของแอฟริกาใต้เก่าแก่ที่สุดในยุคอุตสาหกรรมทันสมัย และมีปัญหาหมักหมมมานาน
"พวกคนงานขุดลงไปลึกขึ้นและลึกขึ้นราว 1.1 ไมล์ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็น แก๊ซพิษที่ร้อนจัดซึ่งต้องระบายออกมา การขึ้นลงลิฟต์ที่ต้องใช้เวลาหลายสิบนาทีเพื่อลงไปยังก้นเหมือง หรือกลับขึ้นมา แรงสั่นสะเทือนหรือการพังถล่มลงมา ต้องมีการแก้ไขการบำรุงรักษาที่ล่าช้านี้" แนดเลอร์กล่าว
แอฟริกาใต้ เป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลก รวมทั้งสินแร่อื่นๆอีกหลายชนิด เมื่อพิจารณาจากสถิติของรัฐบาลในปี 2548 มีการผลิตแร่ธาตุทั้งหมด 55 ชนิดจากเหมืองแร่ 1,113 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นเหมืองแร่ทองคำ 45 แห่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ