สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงมาเป็นขยายตัว 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้วาจะเติบโตราว 2.5-3.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลง มาจากสมมติฐานที่สำคัญ คือ
1. สมมติฐานด้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและวัคซีน โดยคาดว่าการระบาดในประเทศจะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดและไม่รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดและเป็นวงกว้างไปมากกว่าปัจจุบัน และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจะผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือนพ.ค.64 ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป ขณะเดียวกันคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนในปริมาณที่มากขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยคนไทย 75% จะได้รับวัคซีนภายในปี 64 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ภายในไตรมาสแรกของปี 65 นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนในพื้นที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมาย
2. เศรษฐกิจโลกปี 64 คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.8% ซึ่งเร่งขึ้นจากในปี 63 ที่เศรษฐกิจโลกหดตัว -3.2% ขณะที่คาดว่าปริมาณการค้าโลกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 7.8% เพิ่มขึ้นจากในปี 63 ที่หดตัว -8.5%
3. ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 64 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 29.80-30.80 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย 31.30 บาท/ดอลลาร์ในปี 63 อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนในการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศหลัก
4. ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 64 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 58-68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากระดับ 42.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 63 โดยปัจจัยหนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวดีกว่าคาดของเศรษฐกิจโลกในปีนี้, การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก
5. ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปี 64 จะเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% และ 3.5-4.5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกปี 64
6. รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 64 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ลดลงถึง 62.6% จากปี 63 คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5 แสนคนในปีนี้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพของวัคซีน ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยในกรณีฐาน คาดว่าประเทศไทยจะสามารถกระจายวัคซีนในพื้นที่เป้าหมายได้ตามกำหนดและมีปริมาณที่เพียงพอ จนนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต (Phuket Sandbox) ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และพื้นที่นำร่องอื่นๆ ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
7. การเบิกจ่ายงบประมาณ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ให้ได้อย่างน้อย 92.5% ขณะที่อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 70% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนการใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 64 รวม 5.01 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการเบิกจ่ายในปีงบ 63 เกือบ 3 แสนล้านบาท จะทำให้มีงบเบิกจ่ายสะสมถึงสิ้นปีงบ 64 เป็นวงเงิน 8 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 80% ของวงเงินกู้รวม
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 64 คือ 1. ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ และความล่าช้าในการกระจายวัคซีน
2.แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ภายใต้สถานการณ์การระบาดที่ยังมีความรุนแรง โดยคาดว่าภายในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเหลือเพียง 5 แสนคน จากเดิมคาด 3.2 ล้านคน ประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนล้านบาท
3. เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินที่ถูกซ้ำเติมจากการระบาดรอบใหม่ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี
4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ซึ่งมีเงื่อนไขที่ต้องติดตาม คือ ทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก, ความผันผวนของตลาดเงิน รวมทั้งเงินลงทุนระหว่างประเทศ ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน, แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศสำคัญ, การฟื้นตัวที่ไม่พร้อมกันของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ, ความเสี่ยงต่อห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมือง
นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 63 จากปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 64 จึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้
1. การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ 2.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด 3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศ 4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 5.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 6.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และกระทบกับความเชื่อมั่น
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เรื่องของวัคซีนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ในระยะถัดไป ดังนั้นขอความร่วมมือทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลต่างๆ อย่างถี่ถ้วน และให้รับฟังข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้แผนการฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น