BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 31.20-31.50 ติดตาม GDP ไทย, รายงานประชุมเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 17, 2021 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.36 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 31.04-31.40 บาท/ดอลลาร์

เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯสูงขึ้นหลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายน สูงเกินคาดอย่างมาก โดย CPI เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่สุดในรอบเกือบ 12 ปี ทำให้ตลาดไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกนานได้หรือไม่ ทั้งนี้ เฟดเน้นย้ำในช่วงก่อนหน้านี้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในปีนี้เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ลดช่วงบวกลงท้ายสัปดาห์ โดยนักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรย่อตัวลง หลังสหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีกต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 13,230 ล้านบาท และ 1,484 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดหลายรายในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยเฟดสาขาแอตแลนตา รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 27-28 เมษายน เพื่อประเมินท่าทีและจังหวะเวลาที่สหรัฐฯ จะปรับนโยบายการเงินท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น

อนึ่ง เป็นที่น่าสนใจว่าภายหลังปฏิกิริยาต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ สามารถกลับเข้าสู่เสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว ทางกลุ่มงานฯ มองว่าการสื่อสารของเฟดกับตลาดการเงินจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของเยอรมนีอาจพลิกกลับขึ้นมาเป็นบวกในระยะถัดไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีกำหนดรายงานข้อมูล GDP ไตรมาส 1/64 โดยทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะได้แรงหนุนบางส่วนจากภาคส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนตามวัฎจักรการค้าโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศชั่วคราว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ