พาณิชย์ห่วงพรบ.ต่างด้าวยืดเยื้อ หลังกฤษฎีกาจำกัดความ"อำนาจชี้นำ"ไม่ชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2007 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามของคนต่างด้าวตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำจำกัดความ"อำนาจชี้นำ"ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ควบคุมกิจการที่ต้องใส่เพิ่มเข้าไปในคำนิยามคนต่างด้าวใหม่มายังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้ว 
กฤษฎีการะบุว่า อำนาจชี้นำ หมายถึงอำนาจในการบริหารและจัดการด้านการเงินเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุว่าขอบเขตของอำนาจชี้นำคืออะไร ใช้เกณฑ์ใดในการวัดว่าธุรกิจที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่มีการใช้อำนาจอย่างไรจึงจะเป็นการชี้นำ และเข้าข่ายเกณฑ์ควบคุมกิจการเป็นธุรกิจต่างด้าวตามคำนิยามที่แก้ไขใหม่
"สิ่งที่กฤษฎีกาส่งกลับมาให้ยังไม่ชัดเจนว่าขอบเขตอำนาจชี้นำอยู่ตรงไหน มีวิธีการวัดหลักปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นอำนาจชี้นำ ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการธิการวิสามัญฯวันที่ 2 ต.ค.นี้ ตัวแทนกฤษฎีกาซึ่งอยู่ในคณะกรรมการธิการวิสามัญฯ จะต้องชี้แจงว่าอะไรคืออำนาจชี้นำ" นายคณิสสร กล่าว
ทั้งนี้ หากหาข้อสรุปไม่ได้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะต้องหาข้อสรุปคำจำกัดความเอง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ต้องยืดเยื้อออกไปอีกและไม่สามารถระบุได้ว่าจะพิจารณาคำนิยามคนต่างด้าว ตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจะเสร็จสิ้นเมื่อใด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า คำจำกัดความอำนาจชี้นำตามความเห็นของกฤษฎีกา เป็นการยกความหมายที่กว้างมาก ซึ่งเข้าใจว่ากฤษฎีกานำมาจากคำจำกัดความบางส่วนของกฎหมายดูแลธุรกิจในประเทศอังกฤษ และบางส่วนของหลักเกณฑ์การค้าด้านบริการขององค์การการค้าโลก(WTO)ที่มีข้อความหนึ่งระบุถึงคำว่า DIRECT ซึ่งไม่ได้หมายถึงการชี้นำแต่เป็นการกำกับดูแลกิจการเท่านั้น
ดังนั้น หากอำนาจชี้นำระบุว่าเป็นอำนาจบริหารจัดการและการเงิน จะทำให้การเบิกจ่ายงบของบริษัทที่มีคนต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยต้องกลายเป็นธุรกิจต่างด้าวทันที แม้จะไม่ได้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนั้นก็ตาม

แท็ก กฤษฎีกา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ