ZoomIn: วงการคาดกลางปีราคาปาล์มพุ่งแตะ 7 บาท/กก.และยังอาจทรงตัวสูงแนะรัฐปรับโครงสร้างทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 20, 2021 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการปาล์ม คาดว่าราคาปาล์มและน้ำมันปาล์มจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้จนถึงปี 65 แนวโน้มราคา ปาล์มน้ำมันในประเทศช่วงกลางปีอาจพุ่งสูงไปถึง 7 บาท/กก. จากนั้นจะเริ่มลดลงหลังผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี จึงแนะนำ ให้รัฐทบทวนนโยบายน้ำมันปาล์ม ด้วยการปรับโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อบริการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำอย่างยั่งยืน จากเกษตรกรผู้ปลูก จนถึงผู้ใช้น้ำมันปาล์ม อย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปตามสถานการณ์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยข้อมูลราคาปาล์มน้ำมัน (19 พ.ค.64) อยู่ที่ 5.67 บาท/กิโลกรัม จาก 4.75 บาท/กิโลรัมในเดือน เม.ย. และ เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 2.90 บาท/กิโลกรัม จากผลพยากรณ์การผลิตในเดือน มี. ค.64 คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 16.37 ล้านตัน โดยมีผลผลิตต่อไร่ที่ 2,692 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 63 ผลผลิตอยู่ที่ 15.66 ล้านตัน และมี ผลผลิตต่อไร่ที่ 2,664 กิโลกรัม

ส่วนสถานการณ์การผลิตและการตลาด คาดว่าผลผลิตปาล์มในเดือน พ.ค.64 จะอยู่ที่ราว 1.989 ล้านตัน และน้ำมันปาล์ม ดิบ 0.358 ล้านตัน สูงขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่มีผลผลิตปาล์ม 1.902 ล้านตัน และน้ำมันปาล์มดิบ 0.342 ล้านตัน คิดเป็น 4.57% และ 4.68% ตามลำดับ

ขณะที่ภาพรวมปี 64 พื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศคาดว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.08 ล้านไร่ จากปี 63 อยู่ที่ 5.87 ล้านไร่ เนื่องจาก เกษตรกรที่ขยายการปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา เงาะ และลองกอง ตั้งแต่ปี 61 ซึ่งเริ่มให้ผลในปีนี้ โดยผลผลิตปี 64 เพิ่มขึ้นมาที่ 16.36 ล้านตัน เฉลี่ยต่อไร่ที่ 2,692 กิโลกรัม เทียบกับปี 63 ที่ 15.56 ล้านตัน เฉลี่ยต่อไร่ที่ 2,664 กิโลกรัม เนื่องจากแหล่งผลิต สำคัญในภาคใต้ได้รับปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 63

ประกอบกับสภาพอากาศในช่วงปี 64 เอื้ออำนวย ส่งผลให้ต้นปาล์มน้ำมันที่จะให้ผลผลิตในช่วงกลางถึงปลายปี 64 น้ำหนัก ทะลายมากกว่าในช่วงเดียวกันของปี 63 ที่ประสบปัญหาภัยแล้งยาวนานติดต่อกันตั้งแต่ช่วงต้นปี 62 ถึงต้นปี 63 ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อ ความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ทำให้ทะลายฝ่อแห้งคาต้นให้ผลผลิตได้น้อย

ทั้งนี้ ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลาย น้ำหนักมากกว่า 15 กก. ขึ้นไป ณ โรงงานสกัดในภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร และกระบี่ ล่าสุดราคา ณ วันที่ 18 พ.ค.64 อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.60-6.10 บาท

ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ (รายสัปดาห์) ราคาผลปาล์มทะลาย(วันที่ 3-9 พ.ค.64) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.54 บาท ซึ่งลดลงจากกิโลกรัมละ 4.59 บาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.09% ส่วนราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ ราคาน้ำมันปาล์มดิบสัปดาห์ นี้ (วันที่ 3-9 พฤษภาคม 64) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 32.78 บาท

สำหรับสถานการณ์ตลาดในต่างประเทศ ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มมาเลเซียสูงขึ้น 3.5% อยู่ที่ตันละ 4,187 ริงกิต เป็นราคาสูงสุดตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตในเดือน พ.ค.64 จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วย

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กล่าวว่า จากภาพรวมราคาปาล์มน้ำมันในตลาดโลกช่วงนี้พุ่งสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับในประเทศไทยหลังจาก ช่วงเดือน เม.ย.ที่มีวันหยุดยาวส่งผลให้โรงงานต่างๆ หยุดทำการ ทำให้ปาล์มน้ำมันค้างสต็อก แต่กลับมามีดีมานด์สูงในช่วงเดือน พ.ค. โดยคาดว่าราคาปาล์มน้ำมันในประเทศกลางปีนี้อาจขึ้นสูงถึง 7 บาท/กิโลกรัม

ทั้งนี้ ยังต้องรอดูสถานการณ์ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าผลผลิตปาล์มจะลดน้อยลงในช่วงเดือน มิ.ย.-ต. ค. โดยคาดว่าปลายเดือน ต.ค.ผลผลิตจะทยอยกลับมา และราคาเริ่มลดลง

ด้านนายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้ไปจนถึงปี 65 เนื่องจากเริ่มหมดฤดูกาลเพาะปลูก จึงทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด- 19 ส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เนื่องจากมีการปิดประเทศและชายแดน จึงทำให้การลักลอบการนำเข้าปาล์มผ่านช่องทางชายแดน ต่างๆ ลดน้อยลง

ขณะที่ตลาดปาล์มน้ำมันทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตที่น้อยลงเช่นเดียวกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม น้ำมันปาล์มบรรจุขวดมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ขวดละประมาณ 48-50 บาท แต่การรับซื้อปาล์มน้ำมันยังมีราคาต่ำอยู่ โดยปัจจุบันราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/กิโลกรัม หลังจากที่เกษตรกรได้มีการเรียกร้องที่ศาลากลาง ทั้งนี้คาดว่าราคาปาล์มน้ำมัน น่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากปีนี้ผลผลิตน้อย

สำหรับประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ที่ 2-3 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจึงมองว่าการซื้อปุ๋ยที่มีราคาสูง ถึง 200-300 บาท/กระสอบมาใช้นั้น ไม่คุ้มค่ากับราคาปาล์มที่ได้ จึงส่งผลให้ปาล์มมีขนาดและจำนวนที่ลดน้อยลง และมีราคาที่แพงขึ้นใน ขณะนี้

นายพันศักดิ์ กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการส่งออกปาล์มน้ำมันดิบไปต่างประเทศ โดยที่ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศ ไทยยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม จึงทำให้พ่อค้าส่งออกได้กำไรที่ค่อนข้างสูง ดัง นั้นรัฐควรมีการกำหนดโครงสร้างราคา เมื่อราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลผลิตก็ควรปรบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

"รัฐบาลมีการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างไม่เป็นระบบ เมื่อมีชาวบ้านร้องเรียน และพบปัญหาก็จะแก้ไปตามสถานการณ์เท่า นั้น ซึ่งเป็นการบริหารงานที่ไม่มองการพัฒนาวงการน้ำมันปาล์มเป็นหลัก มองเพียงผลประโยชน์ที่เอื้อต่อพ่อค้า" นายพันศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรวางแผนบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มไว้ให้เพียงพอตามที่กำหนดไว้ 250,000 ตัน เพื่อไม่ให้เกิด ปัญหาการขาดแคลนปาล์มน้ำมัน ที่อาจส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าในราคาที่สูงตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ในราคาแพง เมื่อราคาน้ำมันขวดแพง รัฐก็จะออกนโยบายชดเชยเงินออกมา ซึ่งถือเป็นการบริหารงานจากปลายเหตุที่ไม่มีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับทางด้านนายชโยดม ที่กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มีข้อเรียกร้องที่ต้องการเสนอต่อ รัฐบาลทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1.การยกเลิกนโยบายการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปต่างประเทศที่คาดว่าจะลากยาวไปถึงเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งรัฐบาลให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบทั้งที่สต็อกในประเทศยังขาดแคลน แม้จะจ่ายค่าชดเชยภาษีแก่พ่อค้าส่งออก 2 บาท/ลิตร อย่างไรก็ ตาม สต็อกที่เหมาะสมที่ควรมีในประเทศอยู่ที่ 250,000 ตัน แต่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 130,000 แสนตัน

2.ให้รัฐจัดทำโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อให้นายทุนไม่สามารถกดราคากับทางเกษตรกรได้ และราคาสินค้าควรมีความสอดคล้องกัน แต่ปัจจุบันผลผลิตจากเกษตรกรมีราคาถูก แต่มีการขายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาแพง ซึ่งถือเป็น การเอาเปรียบทั้งผู้บริโภค และเกษตรกร

3.การติดมิเตอร์ที่ถังน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อให้สามารถรู้สต็อกที่แน่นอน ทำให้รัฐสามารถบริหารงานได้ง่ายขึ้น และ สามารถเก็บภาษีได้เต็มหน่วย รวมถึงเพื่อให้นายทุนไม่สามารถเอาเปรียบเกษตรกรเรื่องเปอร์เซ็นต์ได้

และ 4.การตรวจสอบคุณภาพของปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐาน ซึ่งแม้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายให้โรงสกัด หีบสกัดได้ ไม่ต่ำกว่า 18% แต่ปัจจุบันโรงสกัดต่างๆ หีบได้เพียง 15-16% เท่านั้น จึงอยากให้รัฐเข้ามาตรวจสอบโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ น้ำมันปาล์มมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ