นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 5/2564 ว่า คณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 และเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยให้ รฟม. นำเสนอขอความเห็นชอบในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี ต่อไป
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติอนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ไปพร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมีกรอบวงเงินรวม 1,470 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 จำนวน 1,418 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum) และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 52 ล้านบาท
และได้มีมติอนุมัติแหล่งเงินก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีเป็นรายได้แก่ รฟม. ให้เพียงพอเพื่อการชำระหนี้แก่แหล่งเงินกู้ ทั้งในส่วนเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจะตกลงกับ รฟม. ต่อไป
ทั้งนี้ รฟม. จะเร่งรัดนำเสนอเรื่องดังกล่าว ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณานำเรื่องเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องไปกับการดำเนินงานโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ที่ปัจจุบัน กทพ. อยู่ในระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี โดยทั้งสองหน่วยงานมีแผนจัดการประกวดราคาหา ผู้รับจ้างก่อสร้างร่วมกันภายในเดือนตุลาคม 2564 อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการลดภาระค่าก่อสร้าง ย่นระยะเวลา การก่อสร้าง และลดปัญหาการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ทั้งยังช่วยลดผลกระทบในระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุดอีกด้วย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จำนวน 20 สถานี ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร โดยพื้นที่โครงการฯ มีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้าง ทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นระยะทาง 7.2 กิโลเมตร (จำนวน 6 สถานี) ซึ่งรูปแบบเบื้องต้นของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งเป็นคานคอนกรีตที่วางบนคานขวาง และ Bearing Shoe และออกแบบให้มีเสาตอม่อสายสีน้ำตาลแทรกระหว่างเสาทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว มีระยะระหว่างช่วงตอม่อโดยทั่วไปประมาณ 25-30 เมตร