นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค โดยในแต่ละพื้นที่มีบทบาท ดังนี้
1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และ EEC
4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
ทั้งนี้ กพศ. ได้มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งรวมทั้งแนวทางการดำเนินงานและการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการ ในระดับพื้นที่เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย
พร้อมรับทราบ การลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง มีมูลค่าประมาณ 25,400 ล้านบาท โดยในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่า 70% มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานให้บริการในการเข้ามาทำงานแบบไป-กลับ แก่แรงงานกัมพูชาและเมียนมา โดยใช้บัตรผ่านแดนและต้องมีการทำประกันสุขภาพให้มีระยะเวลาครอบคลุมระยะเวลาที่ทำงานในประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนานำร่องการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการเช่าพื้นที่พัฒนาแล้ว 5 พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว สงขลา ตราด นครพนม และกาญจนบุรี