นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไตรมาส 1/2564 ด้านสถานการณ์แรงงานไตรมาส 1 ว่า การว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่า ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของผู้ประกันตนมาตรา 33 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่การระบาดยังไม่รุนแรง แต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง โดยเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 0.8 แสนคน ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องติดตามในปี 2564 คือ 1. แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาจตกงานมากขึ้น หรือถูกลชั่วโมงการทำงาน 2.แรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และอาจต้องหาอาชีพใหม่ 3.ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอรองรับเด็กจบใหม่ นอกจากนี้ ผู้ว่างงานมีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น ซึ่งทำให้แรงงานมีทักษะต่ำลง รวมถึงแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก กลายมาเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่มีหลักประกันรองรับ
"ต้องดูว่าจะสามารถให้การช่วยเหลือแรงงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวได้อย่างไร เงินกู้ soft loan จำนวน 2.5 แสนล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้ คงจะนำมาประคองธุรกิจไว้ได้ แต่จากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ทำให้การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ได้รับผลกระทบพอสมควร ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่มีกำลังจะจ้างงานใหม่ เพราะฉะนั้นภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของภาคธุรกิจ และ SME ไว้" นายดนุชากล่าว
ขณะที่ กำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก จูงใจให้แรงงานย้ายเข้ามาทำงานในภาคเศรษฐกิจนี้เพิ่มขึ้น
โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรมมีจำนวนทั้งสิ้น 11.07 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 0.6% โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรม มีการจ้างงานลดลง 2.2% อย่างไรก็ตาม มีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถขยายตัวได้ อาทิ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่น ๆ สำหรับภาคบริการ การจ้างงานลดลง 0.7% เช่น สาขาการขายส่ง/ขายปลีก, สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
ด้านหนี้สินครัวเรือน พบว่าไตรมาส 4/63 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และแม้หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4/63 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน
"แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงาน อาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม
"ตอนนี้เริ่มมีการนำเงินฝาก หรือเงินออมออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นในระยะถัดไป จะต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ภาคครัวเรือนมีสภาพคล่องนำไปใช้จ่ายรายเดือน และยังต้องเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบที่จะกลายมาเป็นปัญหาซ้ำเติม" เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว