นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงโอกาสของ "กัญชา" ในการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดกัญชาเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทย จะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาท และการปลดล็อคกัญชา ทำให้บางชิ้นส่วนของกัญชาสามารถใช้ในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ กล่าวคือ การใช้กัญชาในทางการแพทย์และการพาณิชย์ ยังขาดการกำหนดสัดส่วนระหว่างกันอย่างชัดเจน รวมถึงการควบคุมปริมาณสารสกัดที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหาร แนวทางการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึง และการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้การปลดล็อคกัญชาในปัจจุบันยังคงมีความจำเป็นต้องมีแนวทางรองรับการดำเนินการด้านต่าง ๆ อีกหลายด้าน อาทิ การควบคุม/กำหนดรูปแบบการผลิตและราคา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตสินค้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนได้รับประโยชน์จากการปลดล็อคนี้ให้มากที่สุด, การกำหนดระดับสาร THC และ CBD ที่เหมาะสมในการเป็นส่วนประกอบของสินค้าแต่ละประเภท และกำหนดฉลากให้ชัดเจน, กำหนดอายุของผู้ซื้อและผู้ใช้ และการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้กัญชาทางการแพทย์แก่ประชาชน
เลขาธิการสภาพัฒน๋ ระบุว่า แม้ว่าประโยชน์ของกัญชาจะมีมาก และอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในอนาคต แต่การทำให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์สูงที่สุด จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสมตั้งแต่การอนุญาตปลูก แปรรูป ขนส่ง จำหน่าย และการใช้อย่างรอบคอบ โดยต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม รวมทั้งควรมีการชี้แจงหรือทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบก่อนตัดสินใจบริโภค อาทิ ข้อดีและข้อเสียของกัญชา ปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม หากมีการใช้สารสกัดมาใช้ในสินค้าอุปโภคเกินที่กำหนดในผลิตภัณฑ์