กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปิดอ่อนค่าเล็กน้อยที่ 31.38 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบค่อนข้างแคบระหว่าง 31.35-31.51บาท/ดอลลาร์
เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ย่ำฐานแม้รายงานการประชุมวันที่ 27-28 เมษายน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายพร้อมหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราการซื้อสินทรัพย์ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป โดยตลาดมองว่าข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวลงมากในเดือน เม.ย.ซึ่งประกาศออกมาหลังการประชุมรอบล่าสุดของเฟดอาจทำให้น้ำหนักของรายงานการประชุมต่อการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มากนัก
ด้านสหราชอาณาจักรเปิดเผยยอดค้าปลีกสูงเกินคาดหลังการผ่อนคลายล็อคดาวน์ สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566
ส่วนเงินดอลลาร์ออสเตรเลียย่อตัวลงหลังจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ขณะที่แรงเทขายสินทรัพย์ดิจิทัลส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 8,177 ล้านบาท และ 13,331 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะติดตามตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ซึ่งเฟดมักใช้เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ระดับความผันผวนในตลาด Crypto จะกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงสกุลเงินที่มีลักษณะ High Beta
อนึ่ง ในภาพรวม ทางกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกอาจแกว่งตัวในกรอบที่อ่อนค่าลงขณะที่บอนด์ยิลด์สหรัฐฯเริ่มขาดแรงส่งด้านขาขึ้นในระยะนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ประเมินว่าเมื่อถึงเวลาที่เฟดจะปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารกลางหลายแห่งอาจปรับนโยบายให้สอดคล้องกันซึ่งจะจำกัดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้บางส่วน
สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่ายอดส่งออกและนำเข้าของไทยเติบโตต่อเนื่องในเดือนเมษายนตามการค้าโลก ขณะที่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกล่าสุด โดยความเสี่ยงหลัก คือ การจัดหาและกระจายวัคซีน และการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้น ขณะที่ทางกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า แรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทจะลดลงตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะแคบลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการกลับมาของรายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ