การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยข้อมูลที่นำเสนอนั้นอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง จึงขอชี้แจงว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.61 ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินรวมทั้งสิ้น 72,921 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบประมาณค่าก่อสร้างจากการศึกษาออกแบบไว้เมื่อปี พ.ศ. 2555 นั้น รฟท.ได้ปรับปรุงรายการงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนที่เปลี่ยนไป อาทิ การเพิ่มโครงสร้างสะพานรถไฟเพื่อข้ามทางรถยนต์ หรือการยกระดับทางรถยนต์เพื่อข้ามทางรถไฟ ซึ่งเป็นการเพิ่มงานจากขอบเขตงานเดิม โดยการรถไฟฯยังคงรักษากรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติมา และมีการปรับลดวงเงินเหลือ 72,919.25 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินเดิมที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ รฟท.ได้เปิดการประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding เมื่อเดือน มี.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่งวิธี e-bidding นี้ เป็นรูปแบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในการประมูลงานภาครัฐที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการสมยอมกันระหว่างผู้รับจ้างในการฮั้วราคา หรือ ตกลงราคากัน เพราะเป็นการเสนอราคาที่ต่างคนต่างยื่นประมูลโดยไม่ทราบ ณ เวลานั้นว่าจะมีใครเข้าร่วมประมูลบ้าง และประมูลในราคาเท่าไหร่
รฟท.ได้ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ และระเบียบข้อบังคับของกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเตรียมเอกสารการประกวดราคา จนถึงขั้นตอนการจัดการประกวดราคาและการยื่นข้อเสนอราคาอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ในการจัดทำร่างเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้มีการทำประชาพิจารณ์รวมทั้งหมด 5 ครั้ง เพื่อชี้แจงผู้วิจารณ์จนหมดข้อสงสัย พร้อมทำการเผยแพร่ผ่านชองทางเว็ปไซต์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม ตรวจสอบได้
โดยการดำเนินการทั้งหมดนั้นเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทุกกระบวนการ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีผู้สังเกตการณ์ที่กรมบัญชีกลางแต่งตั้ง จำนวน 3 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์ติดตาม ตรวจสอบ ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) กระบวนการประกวดราคา กระบวนการก่อสร้าง ตลอดจนถึงการเบิกจ่ายเงินงวดงานจนโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการประเมินคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นเสนอราคา และยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่างๆอีกหลายขั้นตอน
สำหรับเส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีงานอุโมงค์อยู่ด้วยทุกสัญญา ซึ่งเป็นงานเฉพาะทางการกำหนดผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ผู้เสนอราคาต้องเคยมีผลงานประเภทเดียวกันกับงานจ้างก่อสร้างนี้ แต่เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอราคาด้วย รฟท.จึงกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวสามารถเข้าร่วมงานกันได้ในลักษณะกิจการร่วมค้า ซึ่งได้ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งเวียนจากกรมบัญชีกลาง เรื่อง การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า โดยผู้ที่ยื่นข้อเสนอจะต้องซื้อเอกสารประกวดราคาทุกราย ซึ่งคุณสมบัติที่กำหนดนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่มีความเชี่ยวชาญงานเฉพาะทางสามารถเข้าร่วมงานประกวดราคาได้ด้วย ส่งผลให้การประกวดราคาดังกล่าวมีจำนวนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคารวมมากถึง 18 ราย
ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย - งาว ระยะทาง 104 กิโลเมตร มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย กลุ่มที่สองประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 2 ราย รวม 5 ราย
สัญญาที่ 2 งาว - เชียงราย ระยะทาง135 กิโลเมตร มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย กลุ่มที่สองประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 1 ราย รวม 4 ราย
สัญญาที่ 3 เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย กลุ่มที่สองประกอบด้วยผู้ซื้อเอกสารฯ 1 ราย รวม 4 ราย
การประมูลยื่นประกวดราคานั้นอาจเกิดการร่วมมือกันของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางในการเข้าประมูลงานเป็นกิจการร่วมค้า ตามระเบียบว่าผู้เสนอราคาต้องเคยมีผลงานประเภทเดียวกันกับงานจ้างก่อสร้างนี้ รวมถึงอาจเกิดจากปัจจัยอื่น อาทิ การผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าเสนอราคาเนื่องจากไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในการเสนอราคาได้