นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแก้ไขเอกสารประกอบสัญญาเงินกู้ระหว่างกระทรวงการคลังกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อรองรับการยุติการใช้ London Interbank Offered Rate (LIBOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
โดยธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อขอให้แก้ไขเอกสารประกอบสัญญาเงินกู้ รองรับการยุติการใช้ LIBOR หลังจาก Financial Conduct Authority (FCA) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการไม่รับรอง LIBOR ให้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงทางการ โดยเริ่มหลังจากปี 2564 เป็นต้นไป โดย รมว.คลัง ได้เห็นชอบการแก้ไขเอกสารประกอบสัญญาเงินกู้ดังกล่าว พร้อมทั้งลงนามในหนังสือตอบตกลงการแก้ไขรายละเอียดประกอบสัญญาเงินกู้ของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียเรียบร้อยแล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังมีสัญญากู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวโดยอ้างอิงจาก LIBOR สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังมียอดหนี้คงค้างหรืออยู่ระหว่างเบิกรับเงินกู้จำนวน 5 สัญญาได้แก่ โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) , โครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, โครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) และโครงการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 รวมวงเงิน 2,976.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อนึ่ง อัตราดอกเบี้ย LIBOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาดการเงินโลกและเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียใช้ประกอบการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการให้เงินกู้กับคู่สัญญาประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม FCA ซึ่งเป็นองค์การกำกับนโยบายทางการเงินของสหราชอาณาจักรและเป็นผู้เผยแพร่อัตราดอกเบี้ย LIBOR ตรวจพบการบิดเบือนการรายงานข้อมูลของผู้ร่วมตลาดเพื่อจัดทำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของ LIBOR ลดลง และเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา FCA ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ยุติการเผยแพร่และจะไม่รับรอง LIBOR ให้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงทางการโดยเริ่มหลังจากปี 2564 เป็นต้นไป