รมว.คลัง เสนอสภาฯ แก้กม.แพ่งและพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 27, 2021 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นำเสนอ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ที่ประชุมสภาพิจารณา สืบเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฏีกาได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อัตราดอกเบี้ยในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 95 ปี โดยไม่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 7.5 % ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันที่มีอัตราเฉลี่ย 0.5% ต่อปีมาก ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ย และทำให้เกิดการประวิงเวลาฟ้องคดีของเจ้าหนี้เพื่อหาประโยชน์จากความไม่เหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในกฏหมาย

นอกจากนี้ เจ้าหนี้ได้กำหนดวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในลักษณะเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมกับเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดในงวดนั้นได้จากต้นเงินที่คงค้างทั้งหมด แทนที่จะคำนวณจากต้นเงินในงวดที่ถึงชำระแล้วเท่านั้น ซึ่งเมื่อลูกหนี้ผิดนัดหลายงวดติดต่อกัน จะทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดจะสะสมเป็นจำนวนที่สูงมาก ทำให้ลูกหนี้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นส่ง ผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

"ขณะนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชน และผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ดังช่วงเวลาปกติ" นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขและเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้

โดยสาระสำคัญของพ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ 1.ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปรับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด ลดจากอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสภาพเศรษฐกิจตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดให้กระทรวงการคลังทบทวนได้ทุก 3 ปี

2.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 224 เป็นการปรับปรุงดอกเบี้ยผิดนัด ปรับลดจาก 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้ เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตรงเวลา

3.เพิ่มมาตรา 224/1 โดยกำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ซึ่งเจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมดไม่ได้ และข้อตกลงใดที่ขัดกับหลักการนี้ ให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

4.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้กับการคิดดอกเบี้ย/การคิดดอกเบี้ยผิดนัด/การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระ ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ (11 เม.ย.64) แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

นายอาคม กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะช่วยลดจำนวนการฟ้องร้องและการดำเนินคดีของเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และลดโอกาสการเกิดหนี้เสียในภาคส่วนต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ