นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา "Thailand Survivor ต้องรอด" โดยระบุว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิด นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปรับตัวสู่วิถีใหม่ (new normal) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และความจำเป็นในการเข้าถึงระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น การซื้อขายสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการเรียนการสอนผ่านระบบ On line เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการในภาคการผลิต ก็ต้องปรับตัวและมีการกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยืนอยู่ได้ด้วย 3 เรื่องหลัก คือ 1.การส่งออก 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคในประเทศ ซึ่งในภาคการส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวแล้ว จากอานิสงส์ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวขึ้น ส่วนด้านการบริโภค รัฐได้ออกมาตรการเยียวยาทั้งประชาชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงที่ประสบกับวิกฤติโควิด-19 ตลอดจนการออก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้วงเงินไปราว 1.5 แสนล้านบาท และมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ในปีนี้จนออกมาเป็น 2 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ คือ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ อีก 1 แสนล้านบาท รวมเป็น 3.5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก.เดิมที่ยังปล่อยสินเชื่อไม่เต็มวงเงิน
สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมนั้น ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนำมาใช้ใน 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ด้านสาธารณสุข ในส่วนของการจัดหาวัคซีน ตลอดจนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 3 หมื่นล้านบาท, การเยียวยาประชาชนในทุกสาขาอาชีพ อีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายชัดเจน และที่เหลืออีก 1.7 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศ
"ตอนนี้รัฐบาลจะต้องให้ออกซิเจนเพิ่ม เพื่อปลดล็อกบางประการให้กับภาคธุรกิจ ช่วยไม่ให้เขาต้องปลดคนงาน เป็นการรักษาระดับการจ้างงาน ไม่ให้เกิดวิกฤติที่ซ้ำซ้อน นี่คือสิ่งที่รัฐจะทำในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าเราจะรอด ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน" นายดนุชา ระบุ
สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น นายดนุชา คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติได้ อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าการมีวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้วิกฤตินี้สามารถจบได้ไวขึ้น เพราะวัคซีนช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาด และสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเดินได้ใหม่ ที่สำคัญคือต้องบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี คงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติโควิดในครั้งนี้ได้เร็วขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถือได้ว่าเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่สำคัญใน 3 ครั้งใหญ่ ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ที่เป็นวิกฤติภาคการเงิน โดยมีต้นตอจากประเทศไทย และส่งผลกระทบไปยังภูมิภาค ส่วนปี 2552 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดจากภาคการเงินในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดในปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน คือวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุข และเกิดขึ้นผลกระทบกับทั่วโลก
อย่างไรก็ดี จากทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเหมือนเช่นวิกฤติโควิดในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางแก้ไขของภาครัฐในขณะนั้นจึงใช้วิธีการสร้างกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ เช่น มาตรการ "เช็คช่วยชาติ" ตลอดจนการเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงการใหม่ของภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง เพื่อทำให้เกิดการลงทุนต่อในประเทศมากขึ้น ซึ่งจาก 2 วิกฤติการณ์ดังกล่าวใช้เวลาในการบรรเทาสถานการณ์อยู่ประมาณปีกว่าก็สามารถแก้ไขได้
แต่วิกฤติสาธารณสุขในปัจจุบัน ที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวิกฤติ 2 ครั้งที่ผ่านมา เพราะทั่วโลกต่างเผชิญกับผลกระทบเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศใช้นโยบายใกล้เคียงกันในการจำกัดการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกหดตัวลงอย่างมาก เพราะมาตรการด้านสาธารณสุขที่นำมาใช้นั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยหลุดพ้นจากวิกฤติได้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินชีวิตในแบบเดิมๆ ได้ เพราะประเทศไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ที่ยังไม่สามารถจะไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Digital Disruption, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น "แม้ไทยจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี แต่เรายังมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในระยะต่อไปผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เพราะฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนประเทศในครั้งใหญ่ เพื่อสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพื่อขจัดข้อจำกัดที่บั่นทอนขีดความสามารถของประเทศ การปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง...ในยุคนี้ หากค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ทัน เพราะใครวิ่งเร็ว ก็จะเข้าเส้นชัยได้เร็ว ไม่มีใครรอใคร ต้องวิ่งให้เร็ว และเปลี่ยนให้เร็ว" นายดนุชาระบุ