น.ส.ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บรรยายหัวข้อพิเศษ "SURVIVOR?ต้องรอด" โดยถอดบทเรียนธุรกิจร้านอาหารในวิกฤตโควิด-19 ว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในรอบแรกช่วงต้นปี 63 นั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประชาชนยังมีเงินเก็บ จึงมีกำลังซื้อ แม้รอบนั้นจะมีการล็อกดาวน์ก็ตาม แต่ธุรกิจร้านอาหารยังปรับตัวได้ โดยทำให้มีร้านอาหารใหม่ๆ เกิดขึ้นในรูปแบบของดิลิเวอรี่ ขณะที่ร้านอาหารเดิมก็มีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม
ส่วนโควิดรอบ 2 ในช่วงปลายปี 63 ซึ่งภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการจนใกล้เคียงกับภาวะปกติ ทำให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหารนอกบ้านได้ แม้จะยังไม่กลับไปมากเท่ากับภาวะปกติ แต่ธุรกิจร้านอาหารยังสามารถดำเนินอยู่ได้
ขณะที่โควิดรอบ 3 สถานการณ์ถือว่าหนัก เนื่องจากผลกระทบกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ กำลังซื้อของประชาชนเริ่มร่อยหรอ มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น กระทบกับธุรกิจร้านอาหารทั้งรายเก่าและรายใหม่ ซึ่งยอมรับว่าพายุรอบนี้หนักหนาสาหัสที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เนื่องจากร้านอาหารของบริษัท ฟู้ดแพชชั่นฯ ส่วนใหญ่ต้องเป็นการมานั่งรับประทานที่ร้านมากกว่าจะซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน เช่น บาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซบฮัท และเรด ซัน เป็นต้น
"ผลกระทบจากโควิดรอบนี้ พบมากในร้านประเภท hang out เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านปิ้งย่าง ในขณะที่ร้านอาหารอื่นๆ เช่น โดนัท พิซซ่า พอจะไปรอดได้ เพราะสามารถสั่งเดลิเวอรี่ไปรับประทานที่บ้านได้ ในขณะที่ร้านอาหารไทย ยังพอไปได้ เพราะยังสามารถปรับจากการนั่งที่ร้านไปนั่งทานที่บ้านได้" น.ส.ชาตยา ระบุ
น.ส.ชาตยา กล่าวว่า วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทได้มีการปรับตัว โดยในระยะแรก เป็นการรักษาเงินสด และสภาพคล่อง เช่น การเจรจาต่อรองค่าเช่าที่ การปิดบางสาขา การขายวอยเชอร์ รวมทั้งขอความร่วมงานพนักงานบางส่วนในการ Leave without Pay เป็นต้น ส่วนระยะถัดไป ได้ปรับโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เช่น เริ่มทำในรูปแบบดิลิเวอรี่, การนำสินค้าอาหารไปวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้น่าสนใจ เช่น จัดโปรโมชั่น ยืม-คืนกระทะปิ้งย่าง จัดการขายในรูปแบบใหม่ผ่าน Facebook live เป็นต้น
โดยมองว่า ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ต้องกล้าทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ และต้องลงมือเลย เพื่อให้มีธุรกิจได้มีกระแสเงินสด มีสภาพคล่องเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการพัฒนาธุรกิจไปสู่รูปแบบบริการใหม่ๆ ที่ดีและทันสมัยมากขึ้น รองรับกับแพลตฟอร์มดิจิทัลในอนาคต