นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าสถานการณ์ในสหรัฐและสหภาพยุโรปจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความรุนแรง หลายประเทศ อาทิ อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย บังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางหรือมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในระยะสั้นอาจจะลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 17- 23 พ.ค.64) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 64.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ไต้หวัน และอินเดีย ที่ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมอีกครั้ง ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ชะลอตัวหลังสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกชะลอการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปจนถึงเดือน ต.ค. 64
สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยอิหร่านเผยว่าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านมีความคืบหน้ามาก ส่งผลให้คาดการณ์ว่า ในเร็วนี้ สหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น อีกทั้งยังมีความกังวลสถานการณ์ค่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน และส่งผลให้มีอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เริ่มฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในยุโรปและสหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าบริษัทโคโลเนียล ไปป์ ไลน์ (Colonia Pipeline) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดความกังวลในการขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ประกอบกับศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐคาดว่าอาจจะเกิดพายุดีเปรสชันหรือพายุโซนร้อนในอ่าวเม็กซิโก จะกระทบการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ได้
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ย อยู่ที่ระดับ 75.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล, 73.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 74.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล, 0.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจัยมาจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในเอเซียได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซียและเวียดนาม, International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.56 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ Platts รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 6.122 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 74.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค. 64 ลดลง 0.36 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.59 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.5872 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.01 บาทต่อลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.17 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.22 บาทต่อลิตร ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 พ.ค. 64 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 52,278 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 32,531 ล้านบาท ทั้งนี้ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 19,747 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 32,407 ล้านบาท และบัญชี LPG -12,660 ล้านบาท