สศค. เผยบริโภค-ลงทุนเอกชนเป็นปัจจัยหนุนศก.ภูมิภาค ท่ามกลางกังวลโควิดรอบใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 28, 2021 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศค. เผยบริโภค-ลงทุนเอกชนเป็นปัจจัยหนุนศก.ภูมิภาค ท่ามกลางกังวลโควิดรอบใหม่

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน 2564 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในหลายภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

  • ภาคกลาง

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 76.3% 32.7% และ 116.6% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 26.3% และ 47.1% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 6.4% และ 11.7% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูงถึง 5,388.6% ต่อปี ด้วยจำนวนเงินทุน 12.7 พันล้านบาท จากโรงงานทำผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส เช่น ไซโล กรอบพัดลม อุปกรณ์การเกษตรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 86.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.0 และ 89.2 ตามลำดับ

  • ภาคตะวันออก

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 51.4% และ 39.9% ต่อปี ตามลำดับเช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีสะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 19.6% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูงถึง 162.9% ต่อปี ด้วยจำนวนเงินทุน 2.0 พันล้านบาทจากโรงงานทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสม ในจังหวัดชลบุรี เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.9 และ 103.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.3 และ 106.3 ตามลำดับ

  • ภาคเหนือ

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัว 64.8% 13.9% และ 62.9% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 24.3% และ 30.1% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูงถึง 124.6% ต่อปี ด้วยจำนวนเงินทุน 0.5 พันล้านบาท จากโรงงานฆ่า ชำแหละ ตัดแต่ง และแปรรูปสุกร ในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 48.2 และ 62.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5 และ 65.8 ตามลำดับ

  • ภาคใต้

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัว 91.6% 11.1% และ 66.0% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 30.1% และ 68.0% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการกลับมาขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี ด้วยจำนวนเงินทุน 0.3 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -93.0% ต่อปีจากโรงงานผลิตน้ำแข็งซอง และน้ำแข็งก้อนเล็ก ในจังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 42.4 และ 83.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.0 และ 86.9 ตามลำดับ

  • ภาคตะวันตก

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 60.7% 16.4% และ 108.5% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวอยู่ที่ 42.7% และ 68.4% ต่อปีตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 86.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.0 และ 89.2 ตามลำดับ

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 66.8% 14.4% และ 97.7% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวอยู่ที่ 33.3% และ 85.4% ต่อปี ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 49.5 และ 75.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.8 และ 79.9 ตามลำดับ

  • กทม.และปริมณฑล

เศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ข้อมูลเบื้องต้น) และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 66.7% และ 42.2% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ -7.5% 5.9% และ -68.8% ตามลำดับ

สำหรับในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 86.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.6 และ 89.2 ตามลำดับ

ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวในระดับสูงทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเลื่อนการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศ (แบบ ภ.พ. 30) ของเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ตามมาตรการช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ