นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การเดินหน้าผลักดัน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลรอบนี้ โดยส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ และสมควรทำในช่วงเวลานี้ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติที่หนักที่สุดในรอบกว่า 100 ปี ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน สะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยของไทยวันนี้อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหากมองว่าประเทศไทยเป็นองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง ก็เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะกู้เงินและได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต้นทุนต่ำ
ขณะที่กระแสความกังวลฐานะทางการคลังของประเทศจากการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น นายปริญญ์ มองว่าฐานะการคลังของไทยมีความมั่นคงมาก จึงไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจจะขยับขึ้นไปเข้าใกล้เพดานที่ 60% แต่เมื่ออัตราการขยายตัวของ GDP มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีหน้า ก็จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงไปด้วยเช่นกัน
และ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วินัยทางการคลังก็ต้องย่อมปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย การกู้เงินเป็นหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ แต่ในขณะที่ฟากฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป ดังนั้น หากรัฐบาลไทยจะระดมทุนในรอบนี้ก็ควรพิจารณาล็อกต้นทุนอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้ด้วยเช่นกัน
*อัดเงินเยียวยาตรงจุด อย่าใช้มาตรการหว่านแห
สำหรับวิกฤติการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยระลอก 3 เชื่อว่าผลกระทบน่าจะมากกว่าระลอกแรก และระลอก 2 รวมกัน เนื่องจากหลายภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และแม้ว่าการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อหวังกอบกู้เศรษฐกิจรอบนี้จะมีความจำเป็น แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือการตรวจสอบความโปร่งใสของการอนุมัติเงินผ่านโครงการต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าการอนุมัติเบิกจ่ายเพื่อสนับสนุนกิจการด้านสาธารณสุขของประเทศ คงไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอาจจะมีกระแสพูดถึงเพียงแค่การฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มที่ 2 แต่อาจต้องมองข้ามช็อตไปถึงกรณีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วย หรือกรณีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอนาคต
ดังนั้น การกู้เงินรอบนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกใหม่ การใช้เงินเพื่อเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจนั้น ต้องการให้รัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น ไม่ใช่เป็นลักษณะหว่านแหเหมือนกับมาตรการเยียวยาในรอบแรกๆ เช่น โครงการเราชนะ, โครงการ ม33 เรารักกัน และ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
*แผนฟื้นฟู ศก.ต้องชัด-ดึงชุมชนมีส่วนร่วมเต็มที่
ประเด็นต่อมา คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากย้อนมองการใช้เม็ดเงินของรัฐบาลรอบแรกค่อนข้างมีความล่าช้า เพราะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งแนวทางปฎิบัติที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้เม็ดเงินเกิดผลเศรษฐกิจอย่างแท้จริงคือ รัฐบาลควรให้บทบาทการกลั่นกรองโครงการมาจากชุมชน ด้วยการดึงผู้นำชุมชน, ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเข้ามารับผิดชอบ ซึ่งน่าจะช่วยให้เม็ดเงินเข้าถึงได้ตรงจุด แม้อาจมีความกังวลเรื่องความโปร่งใสและการรั่วไหลของเม็ดเงินม แต่ก็อาจแก้ไขด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภาคชุมชน และเปิดทางให้ส่วนกลางสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย
"การให้บทบาทการกลั่นกรองโครงการกับภาคชุมชน จะเกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และเยียวได้อย่างตรงจุด เพราะชุมชนทราบดีว่าเจ็บปวดตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรรม คือการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร ความเป็นจริง ใช้แค่งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นการเข้าไปช่วยสร้างงานในชุมชนได้จำนวนมาก"
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การใช้เงินเพื่อฟูเศรษฐกิจรอบนี้ควรต้องมีแผนชัดเจน ไม่ใช่มีแค่กระดาษเพียงไม่กี่แผ่น และเปิดแนวทางการใช้เงินไว้กว้างมาก เช่น นำไปใช้เพื่อสนับสนุนสาธารณสุข, เยียวยาผลกระทบวิกฤติโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงาน, ช่วยเหลือคนตกงาน, ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
รัฐบาลควรต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย เพราะการเยียวยารอบที่แล้วผ่าน พ.ร.ก.3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งแบ่งเป็น 5 แสนล้านบาท ใน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) มีข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากวงเงิน Soft Loan ในรอบที่ผ่านมา เพราะติดเงื่อนไขมาตรฐานที่สูง มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งไม่ส่งผลโดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น
*แนะปรับปรุง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เร่งเบิกจ่าย
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ประกาศใช้มาเกือบ 2 ปี แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่หวังดีมีการตรวจสอบกำจัดคอรัปชั่นเพิ่มความโปร่งใส แต่ปัจจุบันกลายเป็นอุปสรรคไม่สามารถเบิกจ่ายได้อย่างทันท่วงที เพราะข้าราชการส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะปฎิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญการปรับปรุง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความรวดเร็วมากกว่าในปัจจุบัน
*เตือนแจงความสำเร็จผลใช้เงินให้ประชาชนได้ทราบ
นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า การวัดผลความสำเร็จของการใช้เงินกู้อย่างเป็นรูปธรรม มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ที่ควรต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนได้รับทราบว่าเงินกู้นำไปใช้อย่างไร มีผลความสำเร็จอย่างไร
หากยกตัวอย่างจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วเกือบ 1 ปี รัฐบาลรายงานว่าเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท แต่รายละเอียดไม่ชัดเจนว่าใช้เงินไปในส่วนใดบ้าง มีปัญหาเรื่องคอขวดการเบิกจ่ายอย่างไรบ้าง และมีผลเชิงบวกเป็นอย่างไรเพื่อเป็น KPI วัดความสำเร็จของมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการตอกย้ำว่าการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทในครั้งนี้ จะไม่ไปซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมๆ อีก
"แม้ว่าจะมีการปักธงว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะทำให้ GDP เติบโต 1.5% ส่วนตัวผมคิดว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ควรมาแถลงตัวเลข GDP มากเกินไป เพราะคงไม่มีใครทราบว่าจะมีระลอก 4 ระลอก 5 อีกหรือไม่ จะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นก็กลับมาเจอระลอก 4 อีกครั้ง มีความรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งย้อนมองประเทศไทยก็อาจเกิดผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตได้เช่นกัน"
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤติ แต่ก็มองให้เป็นโอกาสได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเร่งปรับตัวเปลี่ยนผ่านเพื่อรับกับโลกดิจิทัล เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้กับประชากรหลายประเทศมานานแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้อย่างชัดเจน ดังนั้นรัฐบาลควรต้องปรับเปลี่ยนเป็น E-Government อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
https://youtu.be/4VWzJ5HYd4o