นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 64 กนอ.ได้ปรับเป้าประมาณการขาย/เช่าที่ดินของปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไปไว้ที่ 1,500 ไร่ เหลือ 1,200 ไร่ หลังจากยอดขาย/เช่าพื้นที่ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-เม.ย.64) มีจำนวน 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1,620 ไร่ ประมาณ 847.24 ไร่ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ได้
แม้ว่ามูลค่าการลงทุนรอบ 7 เดือน เพิ่มขึ้นถึง 153.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.62-เม.ย.63) ที่มีมูลค่าสูงถึง 113,393.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 68,637.75 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 102,176.52 ล้านบาท และนอกพื้นที่อีอีซี 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน รวม 8,783 คน เนื่องจากนักลงทุนที่ได้จองเช่าและซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้าได้เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
"ปี 64 กนอ.จะมีการปรับลดเป้าการซื้อ/ขาย ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลง เหลือประมาณ 1,200 ไร่ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นจากการที่สภาพัฒน์ และสศอ. มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมและ GDP ที่เพิ่มขึ้น"นายวีริศ กล่าว
ทั้งนี้ กนอ.มีโปรเจกต์ที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการการก่อสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่ล่าสุดนักลงทุนให้ความสนใจที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทางเลือก ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าในเรื่องของการจัดหาบริษัทที่จะมาดำเนินการก่อสร้าง ที่คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน- 1 ปี น่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ โดย กนอ.จะพิจารณาแผนการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทีมีศักยภาพ เป็นคู่แข่งสำคัญ และมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ดังนั้นอาจต้องมีการหารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยเป็นแรงงานฝีมือ ดังนั้นอาจจะปรับเพิ่มในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น
ขณะเดียวกันในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเรื่องน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการหาแหล่งน้ำสำรอง โดยที่ กนอ.อาจไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามต้องศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในเบื้องต้นก่อน
นายวีริศ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกของ กนอ.เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน โดยที่ต้องศึกษาในแนวทาง และจัดตั้งทีมดำเนินงาน และอาจตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาดำเนินการได้ โดยจะดูเป็นรายโปรเจกต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งทีม ประมาณ 6 เดือน- 1 ปี น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมได้ รวมถึงแนวทางธุรกิจใหม่ๆ ของ กนอ.ในอนาคตด้วย โดยที่ทุกการดำเนินการต้องอยู่ในกรอบที่รับได้ และไม่เกิดข้อผิดพลาดเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยได้ดำเนินการมาในอดีต
"จากที่ได้เข้ามาเริ่มงาน จนถึงวันนี้ 1 เดือน กับอีก 8 วัน มีเรื่องที่ตั้งเป้าดำเนินการใหญ่ๆ 4 เรื่อง และเรื่องเร่งด่วนคือ เรื่องวัคซีนโควิด -19 ที่เบื้องต้น ได้ทำการขอไปแล้วว่านิคมฯ จะใช้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยจะเป็นการฉีดให้กับทุกนิคมฯที่ขอเข้ามา โดยแต่ละนิคมฯ ต้องประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด โดย กนอ.อาสาเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนให้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้ประสานไว้เบื้องต้น ซึ่งขณะนี้มี 3 นิคมฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้ได้รับวัคซีนจากทางกรมควบคุมโรคก่อน"นายวีริศ กล่าว