นายโรดริโก ราโต ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สในวันนี้ว่า ภาวะสินเชื่อตึงตัวที่เกิดขึ้นทั่วโลกถือเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงและยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้ และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในหลายประเทศ
"คณะกรรมการกำหนดนนโยบายไม่ควรคิดว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่นายธนาคารเท่านั้นที่จะสามารถรับมือได้ ปัญหาสินเชื่อตึงตัวกำลังลุกลามเข้าสู่เศรษฐกิจในทุกภาคส่วน และกำลังส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่าย" นายราโตกล่าว
ทั้งนี้ นายราโตคาดการณ์ว่า "กว่าที่สถานการณ์การเงินในตลาดจะเข้าสู่ภาวะปกติคงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หรืออาจจะยาวไปจนถึงปีหน้า ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ และจะทำให้รัฐมนตรีคลังของหลายประเทศปรับนโยบายงบประมาณ แต่ผมมองว่ารัฐบาลของหลายประเทศไม่อยากทำเช่นนั้น"
"ภาวะสินเชื่อตึงตัวอันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์) ในสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบไปถึงตลาดการเงินทั่วโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยุโรปก็อ่อนตัวลงด้วยเช่นกัน" นายราโตกล่าว
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า นายราโตประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟก่อนครบวาระ 2 ปีเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยนายโดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีตรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสวัย 58 ปี จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย.นี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--