นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ระบุมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกิน 10% เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดี ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) , กลุ่ม CLMV , จีน และ สหรัฐ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
"สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกปีนี้ไว้ที่ 6-7% แต่เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ที่จะผลักดันให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้เกิน 10% โดยช่วงเวลาที่เหลือต้องให้มียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์" นายชัยชาญ กล่าว
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่
1.เร่งรัดฉีดวัคซีนในภาคโลจิสติกส์และภาคการผลิต โดยเฉพาะท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือจุดเสี่ยงที่เป็น Gateway สำคัญของประเทศ และเชื่อว่าปัญหาโควิด-19 น่าจะยืดเยื้อ
2.เร่งนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเพิ่มเติมโดยเร็วและบริหารจัดการ Space Allocation เนื่องปริมาณคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวในระดับสูง และภาคเอกชนไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะส่งออก จึงขอให้ภาครัฐทำการเช่าเรือ เพื่อไปนำตู้สินค้าเปล่าจากประเทศที่มีตู้ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก กลับเข้ามาในประเทศไทย
3.เร่งนำแรงงานเข้าสู่ภาคการผลิต โดยเร่งรัดการหารือเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขรูปแบบการจ้างแบบ Part time ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องของอัตราจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการที่นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ร่วมกัน
4.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็กในการภาคการผลิต รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสิน
"เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าบาทอ่อนค่าใกล้ 32 บาท/ดอลลาร์ จะช่วยหนุนการส่งออกได้ดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน" นายชัยชาญ กล่าว
สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.64) มีมูลค่ารวม 85,577 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 84,879 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 698 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่
1.แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นเนื่องด้วยผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงาน
- ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (world PMI index) ที่เพิ่มสูงระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
2.ราคาสินค้าในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ ยางพาราแปรรูปขั้นต้น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ขยายตัวจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/64
"การส่งออกทั้งปีอาจเติบโตได้ถึง 10-15% ภายใต้เงื่อนไขประเทศไทยต้องมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเฉลี่ยประมาณ 2.01-2.25 ล้าน TEU/ปี (เฉลี่ย 1.76-2.07 แสนTEU/เดือน) การจัดสรรพื้นที่ (Space Allocation) และค่าระวางอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเติบโตของภาคการส่งออก" นายชัยชาญ กล่าว