รถร่วมฯ นับร้อยดับเครื่องหน้าก.คมนาคมขู่หยุดวิ่งถ้าไม่ได้ขึ้นค่าตั๋ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2007 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วย รถร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.), รถร่วมบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และรถสองแถวเล็กกว่า 100 ราย นำรถมาชุมนุมที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องต้นทุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ รถโดยสารร่วมบริการ ขสมก.ขอปรับขึ้นในอัตรา 2 บาทสำหรับรถร้อน และเพิ่มขึ้นระยะละ 2 บาทสำหรับรถปรับอากาศ ส่วนรถโดยสารร่วมบริการ บขส.ขอปรับค่าโดยสารเพิ่มกิโลเมตรละ 3 สตางค์ และรถสองแถวเล็กที่วิ่งในซอยขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 2 บาท
นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 27.34 บาท แต่อัตราค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันคำนวณจากฐานราคาน้ำมันลิตรละ 23.50-24.71 บาท ทำให้เกิดส่วนต่างที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระและมีต้นทุนสูงกว่ารายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสาร เช่น กรณีรถร้อนมีต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 9.80 บาท แต่สามารถเก็บค่าโดยสารได้เพียง 8 บาท ส่วนรถปรับอากาศต้นทุนที่แท้จริงเฉลี่ยที่ 18 บาท แต่ค่าโดยสารเริ่มจัดเก็บในอัตรา 11 บาทเท่านั้น
"เราเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันยังต้องแบกรับภาระจากการให้ส่วนลดค่าโดยสารครึ่งราคากับผู้สูงอายุ ทำให้ลดรายได้ตรงส่วนนี้ลดลงไปอีก" นายฉัตรชัย กล่าว
ด้าน นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสามาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า ตามข้อตกลงเรื่องราคาค่าโดยสารที่ผู้ประกอบการทำไว้กับกรมการขนส่งทางบกและคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ระบุว่า เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นก็จะปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกัน แต่หากราคาน้ำมันลดลงผู้ประกอบการก็จะปรับลดค่าโดยสารเช่นกัน
"เมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มคณะกรรมการฯ ก็ควรพิจารณาปรับค่าโดยสารให้ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการขาดทุนที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในสภาวะที่น้ำมันแพง โดยราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนกว่า 60% ของค่าใช้จ่ายในการเดินรถทั้งหมด" นายพิเชษฐ์ กล่าว
ขณะที่ นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางพิจารณา แต่ยังไม่สามารถรับปากได้ว่าจะปรับขึ้นราคาได้ทันที เพราะกระบวนการปรับอัตราค่าโดยสารต้องใช้เวลาในการประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่ให้ประชาชนทราบด้วย
"เห็นใจผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันมากว่า 10 เดือน แต่ก็ต้องให้เวลาในการพิจารณา เพราะการขึ้นราคาทันทีจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการเช่นกัน จึงอยากให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางในวันที่ 9 ตุลาฯนี้" นายศิลปชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้ประกอบการได้เจรจากับอธิบดีกรมการขนส่งทางบกจนเป็นที่พอใจแล้วได้ยอมสลายการชุมนุมไป แต่ประกาศที่จะหยุดการเดินรถตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.หากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางไม่ยอมให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามข้อเรียกร้อง
ด้าน นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการเดินรถ แต่ในทางตรงข้ามการขอปรับขึ้นค่าโดยสารก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพในการให้บริการของผู้ประกอบการเดินรถด้วย
"ผมได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงความเดือดร้อนในการปรับค่าโดยสาร รวมทั้งการขอให้ดูแลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และคุณภาพในการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ ดังนั้นในการปรับค่าโดยสารก็ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้วย การเกิดอุบัติเหตุต้องลดลง รถโดยสารต้องอยู่ในสภาพดี" นายสรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ