พาณิชย์ เร่งวิเคราะห์ต้นทุนก่อนพิจารณาคำขอปรับขึ้นราคาสินค้า 14 ชนิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2007 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการ 30 ราย 14 ชนิดสินค้า รวม 588 รายการได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาโดยอ้างว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณา
สินค้าในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ยางรถยนต์, แบตเตอรี่, ปุ๋ยเคมี, กาแฟผงสำเร็จรูป, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ปลากระป๋อง, ยารักษาโรค, น้ำมันพืช, ผงซักฟอก, ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช, ผลิตภัณฑ์ล้างจาน, น้ำอัดลม, ผลิตภัณฑ์นม (นมผง นมแปลงไขมัน นมเปรี้ยว) และรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และ รถบรรทุกเล็ก
สินค้าที่ยื่นขอปรับราคามานั้นส่วนใหญ่ได้ยื่นขอมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครอง และบางรายการได้ยื่นเพิ่มเติมมาภายหลัง โดยต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบแพงขึ้น
"ทั้ง 14 สินค้า ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา เพราะอยู่ระหว่างพิจารณาต้นทุน โดยยึดหลักการเดิม คือ ตรวจสอบต้นทุนย้อนหลัง 2 ปี เพื่อป้องกันการแอบอ้างต้นทุนแฝงขอปรับขึ้นราคา แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นให้ขึ้นก็ต้องให้ขึ้น เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด และให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ แต่ก็ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย" นายยรรยงกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการกาแฟผงสำเร็จรูปยี่ห้อเนสกาแฟ และเขาช่อง ผลิตภัณฑ์นม และน้ำปลาปรับขึ้นราคาไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า กรมจะอนุมัติให้ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อปรับขึ้นราคาตามไปด้วย เพราะต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตแต่ละรายแตกต่างกัน ต้นทุนการผลิตของรายหนึ่งปรับขึ้น แต่อีกรายอาจไม่ปรับขึ้นก็ได้
นายยรรยง กล่าวต่อถึงแนวโน้มการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นกี่บาท แต่กรมฯได้ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นแล้วพบว่าหากปรับขึ้น 1 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า 0.007-1% โดยรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นวันละ 30-40 บาท ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบเดือนละ 15 บาท/ถังขนาด 15 กก. และอาหารสำเร็จรูปที่ใช้ก๊าซหุงต้มในการปรุงอาหาร ได้รับผลกระทบเป็นเศษสตางค์ ส่วนในด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนกรณีที่จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ภาคประชาชน และทำให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีโดยทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ