นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกอาหารฮาลาลในปี 2564 ประเทศไทยมีเป้าหมายการส่งออกไปยังประเทศมุสลิม (OIC) มูลค่าประมาณ 122,087.61 ล้านบาท อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยในปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 118,531.66 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสำคัญในการป้อนสินค้าฮาลาลประเภทต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และได้รับการยอมรับอย่างมากจากผู้บริโภคภายในประเทศและตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น ไก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ข้าว ผลไม้สดและแห้ง ผักสดแช่เย็นและแช่แข็ง ของขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป frozen food, ready to eat food เครื่องสำอาง แฟชั่น เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่ส่งออกไปยังประเทศมุสลิมมากที่สุด คือ ข้าว น้ำตาลทราย อาหารทะเล กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามลำดับ
ตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลประมาณ 5,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลมากกว่า 160,000 รายการ (ข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย)
ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมมากเป็นอันดับ 13 ของโลก โดยประเทศที่มีการส่งออกไปยังประเทศมุสลิมเป็นจำนวนมาก ได้ แก่ จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อินเดีย เบลเยี่ยม บราซิล สหราชอาณาจักร แคนาดา อินโดนีเซีย และไทย ตามลำดับ
นายสมเด็จ กล่าวต่อว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความกังวลด้านอาหารปลอดภัยมากขึ้น ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล อาทิ การสร้างภาพลักษณ์สินค้าและบริการฮาลาล การส่งเสริมการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมาย ฯลฯ ซึ่งการส่งออกอาหารฮาลาลไทย ยังคงได้รับความเชื่อมั่นด้วยกระบวนการผลิตตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม มีข้อกำหนดที่มาของวัตถุดิบ ส่วนผสม กรรมวิธีการผลิต กระบวนการเพาะปลูกการเพาะเลี้ยง และการปฏิบัติของบุคลากรในกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปลอดภัยจากสิ่งต้องห้าม โดยได้รับการตรวจสอบและรับรองเครื่องหมายฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ อาหารแช่เยือกแข็ง รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยมาตรการดังกล่าว มุ่งให้ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ เพิ่มความเข้มข้นในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ Ingredient และภาชนะบรรจุ โรงงานผู้ผลิตต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการรับวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ การจัดเก็บในห้องเย็น การแปรรูป การบรรจุ รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์ การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตั้งแต่สถานที่และอาคารผลิต ระบบสุขาภิบาล การเคร่งครัดในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันตามความถี่ที่เหมาะสม มีมาตรการคัดกรองบุคลากร สถานที่ทำงาน การอบรม ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม
"นอกจากการยกระดับมาตรการที่เข้มข้นแล้ว เรายังเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าโดยการจัด "โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" (Thailand Deliver with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค"นายสมเด็จ กล่าว