(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 50 โต 4.3-4.8%,ปี 51 คาดโต 4.5-6%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 19, 2007 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 50 มาอยู่ในช่วง 4.3-4.8% จากเดิมคาดไว้ 4-5% โดยได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนลงจากเดิม หลังจากจบไตรมาส 2/50 เห็นสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง
ส่วนปี 51 คาดว่าจะขยายตัว 4.5-6.0% ตามที่เคยคาดไว้ในครั้งก่อน
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวในการแถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อว่า ในปีนี้ธปท.คาดว่าอ้ตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-2.3%, เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8-1.3% ส่วนในปี 51 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.2%
สำหรับไตรมาส 3/50 คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้สูงกว่าช่วงไตรมาส 2/50 ที่ขยายตัว 4.4% โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 3/50 จะขยายตัวได้ในระดับ 4.4-4.5% เนื่องจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ สถานการณ์ด้านการเมืองที่ชัดเจนขึ้น การเร่งใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำช่วยรักษากำลังซื้อของประชาชน รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงมาก ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามทิศทางของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ในช่วงไตรมาส 4/50 คาดว่าจะมีการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากบางอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังผลิตค่อนข้างสูง ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี จากเดิมที่คาดว่าจะชะลอตัวแต่ปรากฎว่าช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3/50 กลับปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าลดลง ส่งผลดีต่อการเติบโตของจีดีพี
ความเสี่ยงที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับตัวสูงขึ้น, เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากการลุกลามของปัญหา subprime ในสหรัฐ, เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลอาจไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้า
ด้านปัจจัยบวกที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่อาจะปรับตัวดีขึ้น และแรงกระตุ้นการตัดสินใจบริโภคและลงทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ
ธปท.ระบุว่า ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันอาจเร่งตัวขึ้นในข่วงไตรมาส 4/50 โดยหากราคาน้ำมันดิบดูไบในกรณีฐานเร่งขึ้นไปที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงไตรมาส 3/50 ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีเป็น 66.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงคาดการณ์กรณีฐานที่ 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ หรือคาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุดที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะต่อไปยังจะแกว่งตัวในลักษณะแข็งค่า แต่อัตราการแข็งค่าจะลดน้อยลง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ