นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT 2021) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และระบบการค้าพหุภาคี รวมทั้งร่วมรับรองแถลงการณ์สำคัญ 3 ฉบับ
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้เสนอประเด็นต่อที่ประชุม 2 ประเด็นสำคัญ เรื่องแรก คือ การรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เรื่องที่ 2 คือ การค้าระบบพหุภาคีภายใต้การกำกับขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยทั้ง 2 เรื่อง ไทยได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม 6 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ไทยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายวัคซีนและสินค้าจำเป็นต่อการแก้ปัญหาโควิด โดยการลดอุปสรรคทางการค้า และมาตรการในการจำกัดการส่งออกเพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีน และสินค้าจำเป็นต่อการแก้ปัญหาโควิดได้โดยสะดวกรวดเร็ว ประเด็นที่ 2 ไทยยืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้กติกาของ WTO ประเด็นที่ 3 ไทยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ทั่วถึงตามเป้าหมายโดยเร็ว และสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนของทุกประเทศในโลก
ประเด็นที่ 4 ไทยสนับสนุนการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) ในการผลิตวัคซีนในช่วงวิกฤตโควิด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ประเด็นที่ 5 ไทยสนับสนุนบทบาทของ WTO ในการเร่งหารือเรื่องของการเร่งผลิตวัคซีน กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเด็นที่ 6 ไทยสนับสนุน WTO ในการเร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่คงค้าง เช่น เร่งหาข้อสรุปการอุดหนุนการประมง การยกเว้นภาษีชั่วคราวด้าน E-Commerce การอุดหนุนสินค้าการเกษตร และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ที่ว่างอยู่
นอกจากนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์สำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าประจำปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ 1) ใช้การค้าเป็นกลไกสำคัญในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2) สนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี และ 3) ร่วมกันผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งในเอเปค ฉบับที่ 2 แถลงการณ์เอเปค เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าวัคซีนโควิด-19 และสินค้าจำเป็น และ ฉบับที่ 3 แถลงการณ์เอเปค เรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น เน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่การผลิต
ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม