น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลงนามความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหาร (ASEAN Food Safety Regulatory framework Agreement: AFSRF Agreement) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งความตกลง AFSRF Agreement จะมีผลบังคับใช้ในวันที่รัฐสมาชิกลำดับที่ 10 มอบสัตยาบัน ให้การเห็นชอบ หรือให้การยอมรับแก่เลขาธิการอาเซียน โดยไม่มีข้อสงวนใดๆ ต่อความตกลงนี้
สำหรับสาระสำคัญของความตกดังกล่าว เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งหมดอย่างบูรณาการ และครอบคลุมความปลอดภัยอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยในอาเซียน โดยลดอุปสรรคทางการค้าอาหารภายในอาเซียนให้เหลือน้อยที่สุด และลดความแตกต่างของระบบการควบคุมของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
1.จัดให้มีระบบการควบคุมความปลอดภัยอาหาร และนำระบบนั้นไปใช้ดำเนินการตลอดห่วงโซ่อาหาร ครอบคลุมทุกขั้นตอนของการผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารที่นำไปวางตลาดมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์และกำหนดมาตรการพร้อมบทลงโทษ ในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายและข้อบังคับของตน นอกจากนี้ อาหารที่ส่งออกหรือส่งกลับออกไปยังตลาดของรัฐสมาชิกอื่น จะต้องเป็นไปตามความตกลงนี้ด้วย
2.ต้องยอมรับผลการตรวจสอบ การรับรอง และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ของรัฐสมาชิกอื่นตามที่กำหนดไว้ในความตกลงนี้
3.จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Committee: AFSCC) โดยมีหน้าที่ (1) วางแผน กำกับดูแล และทบทวนการดำเนินงานของความตกลงนี้ (2) ติดต่อประสานงานกับองค์กรของอาเซียน และดำเนินการตามข้อริเริ่มของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร (3) รายงานความก้าวหน้าเป็นระยะที่เกี่ยวข้องกับความตกลงนี้ ต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข
4.ต้องระบุหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ด้านความปลอดภัยอาหารของตน และแจ้งให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบ สำหรับหน่วยงานของไทย คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
5.ให้ใช้พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน มาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ และตีความหรือการปฏิบัติตามความตกลงนี้
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนาม AFSRF Agreement ในครั้งนี้ คือ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการดำเนินงานตามนโยบายความปลอดภัยอาหารของอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือและบูรณาการงานด้านความปลอดภัยอาหาร ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านเกษตร เศรษฐกิจ และสุขภาพของอาเซียนและของประเทศสมาชิกในอาเซียน
ทั้งนี้ หลังจากที่ตัวแทนรัฐบาลได้ลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ครม.จะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป