น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2564 โดยสรุปผลการประชุมที่สำคัญดังนี้
1. มาตรการรองรับเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
(1) ให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดรายงานปริมาณการผลิต การใช้ และการสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้รวดเร็ว ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
(2) รับทราบความคืบหน้าการจัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษาในการวิเคราะห์โครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และมอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัด เข้มงวดให้โรงงานและลานเทรับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรโดยไม่กดราคา
(3) รับทราบผลการขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร) และให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานติดตามการดำเนินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด
2. แนวทางการดำเนินการด้านปาล์มน้ำมันของกรมป่าไม้ โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่ทางราชการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่การอนุญาตหมดอายุ เพื่อลดผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ปลูกที่ผิดกฎหมาย
3. มาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยเห็นชอบผลิตภัณฑ์เป้าหมายและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่า เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน และการส่งเสริมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประสานงาน เร่งรัด และรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ
4. ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 ออกไปถึงธันวาคม 2564 (จากเดิมสิ้นสุดสิงหาคม 2564) และขยายระยะเวลาการส่งออกถึงกันยายน 2564 (จากเดิมภายในมีนาคม 2564) โดยยังคงหลักการเดิมของโครงการ ซึ่งจะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะใช้งบประมาณตามที่ได้อนุมัติไว้แล้วจำนวน 618 ล้านบาท