นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนถึงแนวโน้มการตลาดไทยช่วงการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายช่วงเลือกตั้งเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท หรือมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) เพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง 30,000-40,000 ล้านบาท หรือมีผลให้ GDP โต 0.2-0.3%
สาเหตุที่ทำให้เม็ดเงินสะพัดน้อยกว่าคาดการณ์เดิมเป็นผลจากการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ถูกร่นระยะเวลาลงเหลือเพียง 2 เดือน จากเดิมที่คาดว่าจะมีระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นเพราะความไม่ชัดเจนเรื่องการรวมตัวของกลุ่มการเมือง จึงทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเข้าไปในระบบเศรษฐกิจช้าลง เช่น การติดป้ายหาเสียง การโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองตามสื่อต่างๆ เป็นต้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากที่เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช้าลงทำให้การบริโภคที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คงยังไม่เกิดขึ้นได้ และอาจจะฟื้นตัวหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้วคือในช่วงไตรมาสแรกของปี 51 แต่สำหรับในปีนี้ยังเชื่อว่า GDP จะเติบโตประมาณ 4.1%
"แม้รัฐบาลจะกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. แต่ก็ยังไม่ชัดเจนหลายอย่างว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อีกทั้งพรรคการเมืองมีความเคลื่อนไหวในการจับกลุ่มตลอดเวลา ทำให้เม็ดเงินที่คาดว่าจะเข้าระบบเศรษฐกิจจากการหาเสียงช้าลง" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและบริโภคของประชาชนช่วงหลังการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชน 45.5% เห็นว่าเสถียรภาพรัฐบาลมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย ส่วนการใช้จ่ายเงินเพิ่มหลังเลือกตั้ง มองว่าจะมีมากถึง 42.%
ขณะที่สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะมีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มปลายปีนี้ รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก การปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ การพิจารณาอัตราค่าจ้างแรงงาน
"ผู้บริโภคมองว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นแน่นอน จึงเป็นช่วงรอยต่อที่รัฐบาลจะต้องดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชน และจะกระทบด้านจิตวิทยาในการจับจ่ายใช้สอย แม้จะเป็นช่วงการเลือกตั้งและเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ก็ตาม" นายธนวรรธน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--