วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในรอบสัปดาห์นี้ว่าความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.64 ร่วงลงต่อเนื่อง คาดความคืบหน้าจากการฉีดวัคซีนจะช่วยหนุนการฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44.7 จาก 46.0 ในเดือน เม.ย.64 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ 82.3 จาก 84.3 ในเดือน เม.ย.64 สาเหตุหลักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ประกอบกับในเดือน พ.ค.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม
แม้สถานการณ์การระบาดยังไม่บรรเทาลงในปัจจุบัน แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าอาจมีปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง ได้แก่
1) การปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้เป็นวงกว้าง ล่าสุด 7 วัน (วันที่ 7-13 มิ.ย.) อัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 แสนโดสต่อวัน
2) ความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3) มาตรการรัฐเพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชนวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง และการคาดหวังมาตรการเพิ่มเติมจากพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ที่อาจใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท
4) ธปท.ขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นถึงสิ้นปีนี้ (เดิมสิ้นสุดเดือน มิ.ย.) แก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้
ด้านภาคท่องเที่ยว แม้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเริ่มดำเนินการได้ต้นเดือน ก.ค.นี้ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจยังมาไม่มากนักในไตรมาส 3 และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 มิ.ย.64 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมีกำหนดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.64 นี้ โดยมีกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นเป็นเวลา 14 วัน (ปรับจากเดิม 7 วัน) ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการทบทวนในรายละเอียดและนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
แนวทางการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ล่าสุดทางการกำหนด 10 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และกรุงเทพมหานคร จากข้อมูลในปี 62 พบว่าทั้ง 10 จังหวัดข้างต้น สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันสูงเกือบ 95% ของรายได้ทั้งหมดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยในวันที่ 1 ก.ค.นี้ การเริ่มโครงการภูเก็ตแชนด์บ็อกซ์เป็นต้นแบบ ก่อนจะทยอยเปิดเพิ่มเติมในพื้นที่นำร่องอื่นๆ ซึ่งทางการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 129,000 คน ในช่วงไตรมาส 3/64 ทั้งนี้ การที่แต่ละพื้นที่นำร่องจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จะต้องมีการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละพื้นที่ครบตามจำนวนที่ขอไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีประเมินว่า แม้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะสามารถดำเนินการได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาอาจยังมีไม่มากนัก โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จะมีประมาณครึ่งหนึ่งจากเป้าของทางการ เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดในไทย รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญยังเผชิญกับการระบาดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงอยู่ อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ เงื่อนไขและข้อกำหนดทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทางที่อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ