นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยจองที่พักเพื่อเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตช่วงปลายปีนี้แล้ว โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3/64 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.3 แสนคน
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในโครงการนี้จะมีการลงทะเบียนล่วงหน้าจากประเทศต้นทาง โดยมีการคัดกรองโรค การฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว พร้อมทั้งแจ้งแผนเดินทางและการทำกิจกรรมทุกอย่างล่วงหน้า ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องกักตัวอยู่ในจังหวัดภูเก็ต 14 วัน จากเดิมจะให้กักตัว 7 วันแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลงไป และระหว่างกักตัวจะการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งคือ วันแรกที่เดินทางมาถึง วันที่ 6 ของการกักตัว และวันที่ 15 ของการกักตัว หากตรวจไม่พบเชื้อแล้วจึงจะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดอื่นได้ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้จะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย.64
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.64 ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องได้รับวัคซีนครบ 100%
"การฉีดวัคซีนต้องให้ได้ 70% ของประชากรทั้งหมด แต่พนักงานที่ต้องสัมผัสกับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องได้รับวัคซีน 100% นายพิพัฒน์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีนของจังหวัดภูเก็ตคือ 466,587 ราย ขณะที่ฉีดไปแล้ว 93,211 ราย คิดเป็น 20% แต่คาดว่าในเดือน มิ.ย.จะสามารถฉีดได้จำนวน 6.44 แสนโดส
รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า หากดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ผ่านไป 1 เดือนแล้วไม่เกิดแรงกระเพื่อม จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ให้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีกในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 64 ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี และบุรีรัมย์ โดยพิจารณาจากความสามารถในการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ผ่านมาซึ่งมีสัดส่วน 75% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด
นอกจากนี้ จะเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยจำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละ 1-2 ล้านบาท แต่จะให้ผู้ประกอบการสามารถค้ำประกันไขว้ให้กันได้