ศูนย์วิจัย KTB คาดยอดรถ EV ในไทยแตะล้านคันปี 71 แนะรัฐมองโมเดลตปท.หนุนเป็นฐานผลิตภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 17, 2021 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ประเมินการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (xEV) ในประเทศไทยจะแตะ 1 ล้านคันในปี 71 โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) เป็นหลัก ตามทิศทางของผู้ผลิตขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

ในปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) กลับมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดขายทั่วโลกสูงถึง 3.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43% เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน หรือขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายตลาดรถยนต์โดยรวมที่หดตัวลง 21%

"จากการตื่นตัวจากภาครัฐในต่างประเทศในการแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้หลายประเทศขานรับนโยบาย ดังกล่าว โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงประเทศจีนที่ภาครัฐมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง"นายพชรพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกได้ปรับตัวหันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับความสนใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคัน ภายในปี 73 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน

ด้านผู้บริโภคการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่มากนัก เพราะปัจจุบันยังมีตัวเลือกที่ไม่มาก และมีค่ายรถยนต์ผลิตออกมาค่อนข้างน้อย และมีราคาสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วๆ ไป โดยในปี 63 มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มกว่า 400 รุ่นทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ทำให้คาดว่าในปี 68 ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และทำให้การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นได้มาก

นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทยในปี 63 มีเพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็น 1% ของรถยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังเป็นจำนวนน้อย และอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ แต่ข้อได้เปรียบของไทยคือการฐานผลิตยานยนต์มาเป็นระยะเวลาวนาน ประกอบกับ ผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น จะเป็นส่วนเสริมให้ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 71 หรือขยายตัวเฉลี่ย 24% ต่อปี อีกทั้งยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบกับ มีตลาดส่งออกรองรับอย่างชัดเจน ทั้งทวีปเอเชีย และประเทศสหรัฐ

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS แนะนำว่ามาตรการภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคต โดยในประเทศฝั่งยุโรปได้มีการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคด้วยการเพิ่มเครดิต, การคืนเงิน, ให้ส่วนลด, ให้การยกเว้นภาษี และสนับสนุนการสร้างสถานที่ชารจ์ EV เป็นต้น ส่วนทางประเทศจีนก็ได้ออกมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ ส่งผลให้มีบริษัทเกิดใหม่มากขึ้น ผลักดันให้ประเทศจีนเป็นผู้นำการผลิตของโลกด้วยสัดส่วน 28% ในปี 62 จากในปี 43 ที่มีสัดส่วนเพียง 3.5%

ส่วนประเทศไทยได้มีมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ด้วยนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และขึ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ระยะ คือระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ในปี 64-65 จะนำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ

ระยะที่ 2 ในปี 66-68 ตั้งเป้าผลิตรถ EV ภายในปี 68 แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะ EV จำนวน 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ EV จำนวน 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก EV จำนวน 18,000 คัน รวมถึงมีการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย และระยะที่ 3 ในปี 66-73 จะขับเคลื่อนตามนโยบาย 30/30 และตั้งเป้าผลิตให้ได้ 30% หรือการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 25,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 65,000 คัน รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศ ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ยังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานในระยะกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการตอบรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวอย่างรับยนต์แบบปราศจากการปล่อยมลพิษ (ZEV) อีกทั้งยังต้องสร้างแรงจูงใจของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ในไทยยังคงมีน้อยอยู่ เนื่องจากด้านผู้บริโภคยังมีความกังวลเรื่องค่าบำรุงรักษาที่มีราคาสูง ประกอบกับมีราคาขายต่ออยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัจจุบันราคาน้ำมันยังคงทรงตัว และไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ