นายอนชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใน จ.ภูเก็ต เริ่มวันที่ 1 ก.ค. และ เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า จ.สุราษฏร์ธานี เริ่ม 15 ก.ค.นี้ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เสนอ
พร้อมกันนั้นยังมีมติรับทราบผลการประชุม ศบค. ทั้งในเรื่องแผนการให้บริการและการกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศ รวมถึงรับทราบการจองวัคซีนไปแล้ว 105.5 ล้านโดส และมีการเสนอเพิ่มกรอบจัดหาวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดสในปี 65 และรับทราบแนวทางสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด ซึ่งเริ่มต้น 1 ก.ค. นี้
รวมทั้งการปรับมาตรฐานการควบคุมระดับพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และมาตรการผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และการปรับวิธีการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าในประเทศไทย
นายอนุชา ชี้แจงถึงความกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่จังหวัดยะลา และกระจายไปในหลายจังหวัดในภาคใต้จะส่งผลให้รัฐบาลทบทวนภูเก็ตแซนบ็อกหรือไม่ว่า จากการประชุม ศบค.สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวภายใน 120 วันตามเป้าหมายของรัฐบาล
โดยพิจารณาภายใต้ 3 หลักการ คือ การเปิดพื้นที่นำร่อง เช่น ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีนั้น เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงสถานการณ์โควิดในพื้นที่ จำนวนผู้ฉีดวัคซีนและความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดและมีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
ขณะที่แนวทางเปิดพื้นที่อื่นๆนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาข้อสรุปของแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.พิจารณาต่อไป
ส่วนเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข เช่น ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาครบ 2 โดส ขณะเดียวกันแต่ละจังหวัดจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขประจำจังหวัด พิจารณาด้านต่างๆอย่างละเอียดและสอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่
กรณีที่มีหลายฝ่ายแสดงความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขนั้น นายอนุชา ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อกังวลต่างๆ แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและการแพร่ระบาดของโรค จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องใช้วิธีการนำร่องในพื้นที่ภูเก็ตก่อน หากพบว่า สิ่งใดที่ทำให้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดขึ้นก็จะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป
สำหรับข้อกังวลว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบให้เตียงรักษาพยาบาลไม่เพียงพอนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.ว่าหากเป็นไปได้ขอให้แต่ละจังหวัดเพิ่มเติมเตียง และให้ปรับโรงพยาบาลสนามให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น เช่น โรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวให้ปรับให้สามารถรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้ ส่วนโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองก็ให้ปรับให้สามารถรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานต่างๆว่าหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เร่งแจ้งความประสงค์เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเร่งด่วนจะได้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยให้หายได้
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า ศบค.ได้กำหนดเงื่อนไขที่อาจทำให้ต้องยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือ
-จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่เกินกว่า 90 ราย/สัปดาห์
-ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
-มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้
-ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย มีผู้ติดเขื้อครองเตียงตั้งแต่ 80% ของศักยภาพจังหวัด
-พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้
ทั้งนี้ หากเกิดเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นขึ้น ศบค.จะมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ ดังนี้
-ปรับลดกิจกรรม
-Sealed Route
-Hotel Quarantine
-ทบทวนยุติภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ส่วนกรณีของเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า
-หากเกิดการระบาดจนเกินศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลเกาะสมุย จะดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงที่วางไว้