นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร ปี 2020 คาดว่า เม็ดเงินจากการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจจะมีมูลค่าที่ 15,201.68 ล้านบาท ประกอบด้วย การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและการสังสรรค์, การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณ และอื่นๆ
ทั้งนี้ นับเป็นการใช้จ่ายในช่งมหกรรมฟุตบอลยูโรที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19
ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ (พนันบอล) คาดว่าจะมีมูลค่าราว 45,839.76 ล้านบาท ถือว่าต่ำสุดในรอบ 6 ปีเช่นกัน
"รอบที่ทำการสำรวจมาทั้งหมดเกือบ 15 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.2006 เป็นอารมณ์ของการจับจ่ายใช้สอยที่ต่ำที่สุด เพราะคนบอกว่าตั้งใจจะใช้จ่ายน้อย จากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากความต้องการผู้บริโภคยังไม่กลับมา...การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยทั้งระบบยังมีสัญญาณของการชะลอตัว ยูโรไม่ได้คึกคักเหมือนที่ผ่านมา เพราะพิษของโควิด" นายธนวรรธน์ ระบุ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิตในประเทศไทย ยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้นี้ยังพบประเด็นใหม่ คือการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า เป็นประเด็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าหรือชะลอตัวลงได้
"การแพร่กระจายของเชื้อโควิด ณ ปัจจุบัน ยังเป็นตัวเลขที่มีผลทางจิตวิทยา และเราคิดว่าตัวเลขที่ระดับ 2 พันน่าจะคุมอยู่หรือลงได้ ปรากฎว่าตัวเลขกลับมาที่ 3 พันรายต่อวัน
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนที่ยังมีข้อจำกัด ทั้งจำนวนวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามาได้ ปัญหาการส่งมอบ แต่เชื่อว่าในเดือน ก.ค.64 นี้ การบริหารจัดการจะทำได้ดีขึ้น เชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะทำได้มากขึ้น ซึ่งหากสามารถควบคุมการระบาดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีขึ้น และฉีดวัคซีนได้มากขึ้น เชื่อว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้น
นายธนวรรธน์ เปิดเผยอีกว่า จากผลสำรวจเห็นว่ามาตรการที่จะสามารถกระตุกและกระชากเศรษฐกิจไทย สิ่งแรกคือการเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ "คนละครึ่ง" และ "ยิ่งใช้ยิ่งได้"
ทั้งนี้ การเปิดประเทศด้วยความรัดกุมจะทำให้มีนักท่องเที่ยวกลับมาตามกระแสการท่องเที่ยว โดยในไตรมาส 4/64 ตามปกติจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 9-10 ล้านคน หากดึงนักท่องเที่ยวกลับมาได้ 1 ล้านคน หรือ 10% จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 5-6 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.2-0.3%
ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 3-4 ล้านคน จึงประเมินว่าอาจจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ราว 0.7-1% ดังนั้น นโยบายการเปิดประเทศมีโอกาสหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 2.5%บวก/ลบ
ส่วนมาตรการภาครัฐช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการ "คนละครึ่ง" ครอบคลุม 31 ล้านคน วงเงินรวม 3,000 บาท และมาตรการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" 4 ล้านคน ยังค่อนข้างอืด
"เราจะประเมินมาตรการภาครัฐในอีก 1 เดือนข้างหน้าว่ามีผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่ เมื่อมีเม็ดเงินใช้จริงๆ ในดือน ก.ค. แต่จากการประเมินเบื้องต้นยังไม่สามารถกระตุกความรู้สึกของคนให้เพิ่มขึ้น เพราะวงเงินน้อยไป และยังไม่มั่นใจสถานการณ์ของวัคซีน จึงทำให้ กกร.มีการเสนอเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพราะคาดหวังว่าเม็ดเงินเยอะจะกระจายเร็ว" นายธนวรรธน์ กล่าว