นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวในงานสัมมนา Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุนว่า การลงทุนภาครัฐถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้รับงบประมาณปี 64 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 50% หรือราว 9 หมื่นล้านบาท และงบประมาณปี 65 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งแม้จะลดลงจากงบปี 64 แต่ไม่ต้องกังวล เพราะกระทรวงคมนาคมยังมีช่องทางหาแหล่งเงินทุนทั้งจากการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Thailand Future Fund) แหล่งเงินกู้จากสำนักบริหารหนี้ที่จะเข้ามาเติมเต็มงบที่ลดลงไปราว 7 หมื่นล้านบาท
กระทรวงคมนาคม ยืนยันที่จะเดินหน้าแผนขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์การการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศอยู่ศูนย์กลางอาเซียน และเป็นประตูเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก หรือทิศเหนือไปทางใต้ จึงต้องมีการพิจารรณาการลงทุนทุกช่องทาง ได้แก่
1.ทางบกที่จะสร้างความสะดวก ปลอดภัย
2 ระบบรางถือว่าเป็นระบบที่จะเป็นอนาคตสำคัญในการลดต้นทุนโลจิตสติกส์ของประเทศได้
3.ทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 ก.ค.เริ่มจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีการจอง slot หรือตารางการบินแล้ว 80-90%
และ 4.ทางน้ำ พยายามเชื่อมต่อฝั่งมหาสมุทรอินเดีย-อ่าวไทยด้วยแลนด์บริดจ์ที่จะมีทั้งรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ยึดเส้นทางตัดตรงที่สุดสั้นที่สุดเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำที่สุด ผู้ขนส่งสินค้าจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและสะดวก คาดว่าจะสรุปผลศึกษาในปีหน้า
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรมีการวางระบบขนส่งทางบกและทางรางในลักษณะบูรณาการด้วยกัน จึงศึกษา MR-MAP ที่จะนำรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง มาผนึกรวมกัน โดยจะเป็น 3 เส้นทาง โดยเส้นทางแรก จากเชียงราย-สงขลา ระยะทาง 1,800 กว่ากม. เส้นที่ 2 หนองคาย-แหลมฉบัง ซึ่งหนองคายเป็นประตูที่เป็นรถไฟไทยจีน และ เส้นที่ 3 จ.บึงกาฬ มาสุรินทร์ โดยบึงกาฬมีการก่อสร้างสะพานไปลาว ส่วนแนวเชื่อมตะวันออกไปตะวันตก 6 เส้นทาง MR-MAP จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเดินทางในอาเซียน
ทั้งนี้ ทางอากาศ ก็มีความสำคัญ เพราะวันนี้ไทยมีรายหลักจากท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวกว่า 90% มาจากทางอากาศ ขณะที่ไทยมีสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ แต่ยังมีความสามารถรองรับผู้โดยสารต่างประเทศไม่เพียงพอ เมื่อมีความจำเป็นจะเปิดประเทศก็จะต้องสร้าง gateway โดยปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิยังต้องขยายอาคารผู้โดยสาร โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เสนอแผนลงทุนส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทั้งส่วนเหนือ ส่วนตะวันออก และส่วนตะวันตก นอกจากนี้สนามบินดอนเมืองก็ลงทุนขยายการรองรับผู้โดยสารเช่นกัน การลงทุนในสนามบินอื่นอีก รวมแล้วคาดว่าในอนาคตไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน หรือมากกว่าปัจจุบัน 2-3 เท่า
สำหรับระบบทางราง เพื่อตอบโจทย์การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จึงได้มีการลงทุนรถไฟทางคู่ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีตามแผน โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายจะผลักดันให้มีการขนส่งทางรางเพิ่มเป็น 30% โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลมีทั้งสิ้น 14 เส้นทาง จะแล้วเสร็จครบในปี 2570 ระยะทาง 554 กม.ตอบโจทย์การแก้ไขจราจร และมลภาวะ PM 2.5 ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าที่เดินรถอยู่มีสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน ส่วนสายสีแดงจะเปิดปลายปี 64 นอกจากนี้ในหัวเมืองขนาดใหญ่ มีแผนจะสร้างรถไฟรางเบา เช่น พิษณุโลก ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดร นครราชสีมา ส่วนรถไฟความเร็วสูง มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ส่วนทางน้ำ มีการพัฒนาท่าเรือต่างๆ ไว้จำนวนมาก แต่ขาดสร้างสายเดินเรือ จึงได้ให้กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยดูต้นแบบจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) , AOTและให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้มีผลกำไรและมีประสิทธิภาพการดำเนินการ จึงได้ตั้งสายการเดินแรือแห่งชาติที่จะมีสายการเดินเรือในประเทศ สายการเดินเรือฝ่งตะวันออก สายการเดินเรือฝั่งตะวันตก ทั้งหมด ถ้าดำเนินการได้ตามแผนเชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคคตที่จะเป็น Hub แน่นอน